กำแพงสูงของเรือนจำและกฎเกณฑ์ควบคุมเข้มงวดได้แยกคนในนั้นกับโลกภายนอกออกจากกัน สำหรับคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพอยู่ข้างในนั้น ก็อาจเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวไปจนถึงความสิ้นหวังต่อชีวิตในวันข้างหน้า นั่นทำให้การที่พวกเขายังสามารถมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างกับโลกภายนอกได้ผ่านการเยี่ยม การได้รับจดหมายที่บอกเล่าความเป็นไปของโลกข้างนอกและให้กำลังใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังไม่รู้สึกว่าถูกตัดขาดจากสังคมอย่างสิ้นเชิง
นี่คือสิ่งที่สะท้อนผ่านคำบอกเล่าของ ‘ธี ถิรนัย’ นักกิจกรรมกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงเรือนจำเป็นเวลาราว 1 ปี 6 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองระเบิดหลังถูกตรวจพบระเบิดปิงปอง ช่วงก่อนการชุมนุม วันที่ 29 สิงหาคม 2564 โดยธีถูกคุมขังครบกำหนดโทษและออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 เขาบอกว่าระหว่างที่อยู่ในนั้น การที่ยังพอมีช่องทางให้รู้สึกเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นจดหมายหรือการเยี่ยมของญาติ ล้วนเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงกำลังใจในช่วงที่ต้องสูญเสียอิสรภาพ
และถึงแม้ตัวเองจะได้กลับสู่โลกภายนอกเรือนจำแล้ว สิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดตอนนี้ก็คือ การนิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมืองทุกคน ที่เขาเชื่อว่าจะเป็นหนทางทำให้สังคมไทยมีโอกาสเดินหน้าไปด้วยกันใหม่อีกครั้ง
อยากเห็น “บ้านของเรา” ดีขึ้น เหตุผลร่วมกิจกรรมการเมือง
ธีเริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2563 เขาบอกว่าแรงจูงใจหลักๆ ที่ทำให้เขาออกมาทำกิจกรรมก็คือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการระบาดโควิดภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยบ้านของเขาทำธุรกิจขายอาหารทะเลก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงโควิดด้วย ส่วนการที่ธุรกิจร้านขายของชำของอาอยู่รอดได้ยากขึ้นทุกวันเมื่อร้านสะดวกซื้อของทุนใหญ่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในชุมชนแถวบ้านของเขาก็ทำให้เกิดเป็นคำถามในใจว่า เหลือโอกาสหรือพื้นที่ต่อรองอะไรให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีอำนาจในสังคมนี้บ้าง
“ผมมองว่าประเทศก็เหมือนบ้านเรา มันไม่เหมือนบ้านเราหรอก มันคือบ้านเราอยู่แล้ว ก็แค่อยากให้มันดีขึ้น” ธีบอกถึงเหตุผลที่เขาออกไปร่วมแสดงออกทางการเมืองด้วยความหวังว่าอยากเห็นประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ธีบอกว่าเขาร่วมการชุมนุมอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ช่วงปี 2563 แม้มีเสียงทักท้วงด้วยความเป็นห่วงจากคนรอบตัว แต่เขาก็คิดว่าการเคลื่อนไหวในเวลานั้นจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกับประเทศได้ ต่อมาเขาได้เข้าร่วมกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทยในฐานะ ‘การ์ด’ คอยดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม และป้องกันไม่ให้มือที่สามเข้ามาสร้างความวุ่นวาย ขณะเดียวกัน การที่ ‘แบงค์’ เพื่อนสนิทของเขาถูกยิงเข้าที่บริเวณสะโพกระหว่างการชุมนุมครั้งหนึ่งช่วงปลายปี 2563 ที่แยกเกียกกายก็เป็นแรงผลักดันให้ธียังคงร่วมการชุมนุมต่อไปด้วยเช่นกัน
ธีถูกดำเนินคดีครอบครองวัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรณีถูกตรวจพบระเบิดปิงปองจำนวน 10 ลูก หลังถูกตำรวจเรียกตรวจค้นรถจักรยานยนต์บริเวณด่านใกล้แยกนางเลิ้ง ก่อนการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีการนัดหมายชุมนุม CAR MOB CALL (ประยุทธ์) OUT ของหลายกลุ่ม เพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ศาลอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัวโดยติดกำไล EM
หลังการต่อสู้คดีในชั้นศาล วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกธีในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ฐานมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง โดยให้จำคุก 6 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 3 ปี โดยธีไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในช่วงการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์
จนกระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลขั้นต้น เป็นลงโทษจำคุก 3 ปี แต่การสารภาพจึงทำให้ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ทำให้วันที่ 11 สิงหาคม 2567 ธีพ้นโทษหลังถูกคุมขังมา 544 วัน หรือประมาณ 1 ปี 6 เดือน
ธีบอกว่า เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำครอบครัวของเขาได้รับผลกระทบทางจิตใจมากพอสมควร โดยเฉพาะคุณย่าซึ่งเป็นคนที่ธีสนิทด้วยมาตั้งแต่เด็กๆ
“ผลกระทบคือด้านจิตใจเป็นหลักถ้าสำหรับฝั่งครอบครัวผมนะ ตอนพ่อแม่ไปเยี่ยมเราให้กำลังใจเขา คือเขาเข้ามาพร้อมน้ำตาที่มาเห็นหน้าเรา จนเราบอกว่าถ้ารอบหน้าแม่เข้ามาแล้วร้องไห้ไม่ต้องมานะ แต่คุณย่าผมไม่กล้ามาเลย เยี่ยมไลน์รอบเดียว เราบอกอาว่าไม่ต้องเยี่ยมแล้ว เยี่ยมแค่รอบเดียวพอ เราสงสารย่า ย่ามานั่งร้องไห้ ย่าไปบนนู่นไว้นี่ไว้ ย่าผมรักผมมาก จนผมได้ออก คือแกก็ร้องไห้ ก็ดีใจ ผมอยู่กับย่ามาตั้งแต่เด็กเลยครับ”
ธีบอกว่ายังจำได้ดีถึงนาทีเดินออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 ว่า คุณย่าของเขามารอรับอยู่ด้านหน้าพร้อมของรับขวัญและน้ำตาแห่งความดีใจ เช่นเดียวกับที่ได้กำลังใจจากเพื่อนนักกิจกรรมและครอบครัวของพวกเขาด้วย
“เราเดินมาเราเห็นละ วันนั้นมันเป็นวันที่ 11 เราเห็นย่าเราแล้ว เขาคิดว่าเราจะร้องไห้ เราไม่ร้องหรอกพี่ เราก็เจอย่าเราร้องไห้ ก็เจอญาติเรา เจอพวกตะวัน เจอแม่เก็ท ก็บอกอิสระแล้วนะ ย่าเราเอาเสื้อมาเปลี่ยนให้ รับขวัญให้เงินให้ทอง แล้วแม่เก็ทก็มากอด บอกว่าอิสระแล้วนะลูก ถามว่าดีใจไหม ก็ดีใจนะพี่” ธีกล่าว
การไม่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง คือกำลังใจของคนหลังกำแพงเรือนจำ
ธีบอกว่าความรู้สึกเมื่อต้องเข้าเรือนจำก็คือ ช็อกกับสภาพแวดล้อมจนทำให้นอนไม่หลับในช่วงแรก แต่ก็พยายามปรับตัว อย่างไรก็ตาม การที่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์แม้ทนายได้ยื่นประกันตัวไปหลายครั้ง ก็ทำให้มีความอึดอัดอยู่ไม่น้อยเวลาคุยกับทนายระหว่างที่ตัวเองก็ยังถูกคุมขังในเรือนจำ
“มันก็ลำบากพี่ คือเราพูดอะไรมากก็ไม่ได้ คือในห้องทนายเราก็ไม่รู้ว่าใครต่อใครมาบ้าง” ธีกล่าว
ธียอมรับว่าการไม่ได้รับอนุญาตประกันตัวตลอดเกือบ 1 ปี 6 เดือน ก็มีส่วนบั่นทอนกำลังใจ แต่ระหว่างนั้นเขาก็พยายามรักษาความหวังด้วยการบอกกับตัวเองว่า พรุ่งนี้ต้องดีขึ้น มากกว่าการจมอยู่กับสภาพความเป็นอยู่ที่ต้องเจอในเรือนจำ
“อยู่ข้างในผมพูดกับตัวเองว่า พรุ่งนี้ของตัวเองมันต้องดี พรุ่งนี้มันต้องมีเรื่องดีๆ จนแบบเราได้ออก มันต้องแบบ เฮ้ย วันนี้แย่ เดี๋ยวพรุ่งนี้มันต้องดีขึ้นเอง คือเราก็ประคองจิตใจตัวเอง”
แต่นอกจากนั้น สิ่งที่หล่อเลี้ยงความหวังและกำลังใจของเขาก็คือ การที่รู้สึกว่าไม่ได้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิงแม้อยู่หลังกำแพงเรือนจำ โดยสิ่งที่เชื่อมโยงเขาไว้กับโลกภายนอกคือการเยี่ยมของญาติ การได้รับจดหมายจากแฟน เพื่อน และครอบครัว เนื่องจากเป็นช่องทางที่เขาได้รับกำลังใจและคำบอกเล่าความเป็นไปของผู้คนและสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก
“เราก็ได้จดหมายเมล (Domimail) ได้จากแฟน ได้จากเพื่อน จากพี่จากน้อง คือจดหมายมันเป็นกำลังใจที่ดีมากๆ เลยพี่ คือทุกคนช่วงบ่ายสองบ่ายสามมาคือทุกคนจะนั่งรอ จดหมายเมลวันนี้ของเราจะเข้าหรือเปล่า ญาติคนไหนจะเขียนมา เพื่อนคนไหนจะเขียนมาหาเราบ้างนะ เรารออ่าน เรารอเขียนตอบกลับ คือทุกการใช้ชีวิตข้างในมันเป็นแค่นี้เอง เรื่องจดหมายเมลเป็นเรื่องที่สำคัญ วันนี้จะมีใครมาเยี่ยมเรารึป่าว เช้ามามีใครจองเยี่ยมไลน์เราบ้างรึเปล่า เป็นเรื่องที่สำคัญมาก มันเหมือนเราไม่ได้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก มันเหมือนเป็นดวงใจเล็กๆ มันที่สุดสำหรับคนข้างในแล้วอ่ะ” ธีกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ธีได้ย้ายมาอยู่แดน 4 หลังเขาทำเรื่องขอย้ายแดนเนื่องจากมีปัญหากับผู้ต้องขังด้วยกันบางคน ซึ่งการย้ายมาแดน 4 ทำให้เขาได้อยู่กับนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ได้แก่ อานนท์ นำภา เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และสมบัติ ทองย้อย ซึ่งเขาบอกว่าการที่ทุกคนให้กำลังใจกัน ก็มีส่วนทำให้เขายังรักษาพลังใจของตัวเองเอาไว้ได้เช่นกัน
นิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองทั้งหมด คือการปลดล็อกความขัดแย้ง
หลังพ้นโทษเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธีบอกว่าการกลับไปเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยก็คือหนึ่งในเป้าหมายของชีวิตของเขา แต่ขณะเดียวกัน อีกความหวังใหญ่ที่อยากให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็คือ การที่เพื่อนนักโทษการเมืองได้รับการนิรโทษกรรม
ตั้งแต่พ้นโทษธีได้เข้าร่วมงานกิจกรรมของภาคประชาชนที่ผลักดันประเด็นนิรโทษกรรมผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่หลายครั้ง เขาบอกว่าอยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้สำเร็จ โดยธียืนยันว่า ไม่ใช่เพราะการนิรโทษกรรมอาจจะทำให้เขาได้ประโยชน์ด้วยเพราะจะถือว่าไม่มีความผิด ประวัติการถูกดำเนินคดีจะไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในอนาคต แต่การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมด ซึ่งรวมถึงคดีอาญา มาตรา 112 ที่ดูจะกลายเป็นใจกลางข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมตอนนี้ คือการช่วยให้สังคมไทยได้เดินหน้าไปด้วยกันอีกครั้งหลังอยู่กับความขัดแย้งมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ
“นิรโทษกรรมหมายถึงทุกคดี ผมรักความสงบอยู่แล้ว ไม่ได้ชอบความขัดแย้ง ถ้านิรโทษกรรมครั้งนี้มันตั้งแต่ปี 2548 ยันปัจจุบัน ผมเชื่อว่ามันช่วยปลดล็อกความขัดแย้งได้ ผมอยากให้มันล้างไพ่ไปก่อน อนาคตเราไม่รู้ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง” ธีอธิบาย
“คือผมมองว่า ตอนนี้เราควรจับมือและเดินหน้าไปด้วยกัน ขับเคลื่อนประเทศชาติไปด้วยกัน คือหยุดการทะเลาะกันในประเทศได้แล้ว เรามองปัญหาใหญ่ดีกว่า เรื่องเศรษฐกิจอันดับแรกเลย ถ้าอะไรไม่เป็นธรรม เราคุยกัน มาปรับความเข้าใจกัน ลดอีโก้ลง มานั่งคุยกันแก้ปัญหาดีกว่า เพราะเรื่องนิรโทษฯ มันก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาทางการเมือง เราก็เส้นทางเดียวกันแล้วอ่ะ เราก็คนไทยเหมือนกัน ปัญหาใช่ เราทะเลาะกัน เราควรมาจับมือแล้วคุยกันดีกว่า เราเดินไปด้วยกันดีกว่า”
“ไม่รู้ว่าหวังสูงหรือเปล่า แต่ขอหวังสูงไว้หน่อย นิรโทษฯ 112 ผมคิดว่ายังไงก็ต้องมี” ธีกล่าวทิ้งท้าย ย้ำว่ายังมีความหวังว่า การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นในอนาคตควรครอบคลุมทุกคดี