ว่ากันว่าการเข้าเรือนจำทำให้คนๆ หนึ่งสูญเสียโอกาสในการดำเนินชีวิต ขณะที่ครอบครัวของเขาก็สูญเสียเสาหลักของบ้านไป โดยเฉพาะกับ “นักโทษทางการเมือง” ที่ถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือคุมขัง เนื่องจากความเชื่อทางการเมือง การแสดงออก หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ท้าทายหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจแห่งรัฐ โดยปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังคงมีนักโทษทางการเมืองจำนวนมากที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและต้องการความช่วยเหลือดูแลด้านคุณภาพชีวิตอย่างที่หลายคนนึกไม่ถึง
เพราะมีเป้าหมายที่จะให้ความช่วยเหลือและรณรงค์เรื่องนักโทษการเมืองในประเทศไทย เช่นเดียวกับผลักดันให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด โครงการ Freedom Bridge จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานการสื่อสารเรื่องราวของนักโทษทางการเมืองให้คนทั่วไปได้รับรู้ ควบคู่ไปกับสร้างองค์ความรู้เรื่องนักโทษทางการเมือง ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังและสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น โครงการ Freedom Bridge ยังทำงานให้ความช่วยเหลือเรื่องสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในด้านต่างๆ ที่จำเป็นอีกด้วย และนี่คือเรื่องราวของการทำงานดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังทางการเมือง ที่หลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่มันคืองานที่จำเป็นและยังต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าประเทศไทยจะไม่มีนักโทษทางการเมืองหลงเหลืออยู่เลยสักคน
การให้การช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเริ่มต้นขึ้นหลังจาก “อานนท์ นำภา” ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกจับกุมและคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 โดยหลังจากครอบครัวของอานนท์ได้ทราบถึงคุณภาพอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานของเรือนจำ จึงมีแนวคิดที่จะซื้ออาหารและน้ำดื่มส่งให้อานนท์ เนื่องจากเป็นวิธีเดียวที่จะดูแลสุขภาพของอานนท์ในเรือนจำได้ กอรปกับประชาชนทั่วไปที่รู้สึกเป็นห่วงและอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลอานนท์ด้วยเช่นกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดระดมทุนเพื่อซื้ออาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็นสำหรับอานนท์
นอกจากอานนท์แล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุมดำเนินคดีทางการเมืองและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ครอบครัวของอานนท์จึงตัดสินใจทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเปิดรับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปเพื่อช่วยเหลือเรื่องการซื้ออาหารและของใช้จำเป็น เช่นเดียวกับการฝากเงินรายเดือนให้นักโทษทางการเมืองทุกคนที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น
ระหว่างช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 – 2564 ครอบครัวอานนท์ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกองทุนชั่วคราวสำหรับการซื้ออาหารและของใช้จำเป็นให้กับนักโทษทางการเมืองในเรือนจำ โดยได้รับความช่วยเหลือจากอาสาสมัครและญาติของผู้ต้องขังคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กองทุนดังกล่าวได้ยุติการให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2565 เนื่องจากนักโทษทางการเมืองเกือบทั้งหมดได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว
วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 อานนท์ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 4 ปี จากกรณีการปราศรัยในชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2563 ครอบครัวอานนท์เกิดความกังวลเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของอานนท์อีกครั้ง จึงส่งอาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็นเข้าไปในเรือนจำให้เขา พร้อมกับเปิดระดมทุนเพื่อช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ โดยครั้งนี้มีความตั้งใจที่จะดำเนินงานกองทุนช่วยเหลืออย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ต่อมากองทุนช่วยเหลือดังกล่าวได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Freedom Bridge ที่มีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือและรณรงค์ประเด็นนักโทษการเมืองในประเทศไทย โดยมุ่งดูแลสภาพความเป็นอยู่ด้านต่างๆ ของนักโทษทางการเมืองในเรือนจำ และจัดทำข้อมูลของผู้ต้องขังในมิติต่างๆ
ปัจจุบันนี้ โครงการทำหน้าที่ช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองด้วยการซื้ออาหาร น้ำดื่ม และของใช้ที่จำเป็น ให้กับนักโทษทางการเมืองจำนวน 27 คนที่ถูกคุมขังอยู่ใน 4 เรือนจำ ดังต่อไปนี้
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวน 18 คน
เรือนจำกลางคลองเปรม จำนวน 6 คน
ทัณฑสถานหญิงกลาง จำนวน 2 คน
เรือนจำจังหวัดนราธิวาส จำนวน 1 คน
ทั้งนี้ โครงการยังทำหน้าที่ฝากเงินรายเดือนให้กับนักโทษทางการเมืองทั้งหมด 14 คน ที่ถูกคุมขังใน 11 เรือนจำ ได้แก่ เรือนจำจังหวัดนราธิวาส, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, เรือนจำจังหวัดเชียงราย, เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่, เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ทัณฑสถานหญิงชลบุรี, ทัณฑสถานหญิงธนบุรี, เรือนจำพิเศษธนบุรี, เรือนจำพิเศษมีนบุรี, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และ ทัณฑสถานหญิงกลาง
นอกเหนือจากการดูแลนักโทษทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำ จำนวน 41 คนแล้ว โครงการยังให้การดูแลครอบครัวของนักโทษทางการเมืองที่มีลูกเล็กและคนแก่ จำนวน 5 ครอบครัว โดยให้การสนับสนุนนมผงและผ้าอ้อมสำเร็จรูป ขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือครอบครัวนักโทษทางการเมืองที่ขัดสนทางการเงิน ด้วยการมอบเงินรายเดือนเป็นจำนวนเงินเท่ากับที่ผู้ต้องขังได้รับ อีกจำนวน 4 ครอบครัว
สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เข้าเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นนักโทษทางการเมืองที่ถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีหรือนักโทษทางการเมืองที่ถูกพิพากษาจำคุกแล้ว พวกเขาจะได้รับชุดของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในเรือนจำทั้งหมด 1 ชุด มูลค่าไม่เกิน 2,000 บาท หลังจากนั้นจะเป็นการช่วยเหลือด้านอาหาร ที่จะให้เงินค่าอาหาร 3 มื้อต่อวันๆ ละไม่เกิน 350 บาท
โครงการให้ความช่วยเหลือพื้นฐานแก่นักโทษทางการเมืองในเรือนจำด้วยการฝากเงินสมทบรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท โดยจะเป็นลักษณะการฝากเงินผ่านธนาณัติไปรษณีย์ หรือฝากผ่านบัตรฝากเงินที่ได้รับจากญาติ ซึ่งเป็นการฝากเงินเข้าเรือนจำโดยตรง อย่างไรก็ตาม การฝากเงินจะเน้นสำหรับช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่างจังหวัด และสำหรับนักโทษทางการเมืองในเรือนจำที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จำเป็นต้องเลือกว่าจะรับเงินรายเดือนหรือรับความช่วยเหลือด้านการซื้ออาหารอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ควบคู่ไปกับการดูแลนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำ โครงการยังให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของนักโทษทางการเมือง โดยเน้นให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่มีลูกเล็กและต้องเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง หรือมีหน้าที่ดูแลคนป่วย ซึ่งจะให้ความเหลือดังต่อไปนี้
หลังนักโทษทางการเมืองได้รับการประกันตัวหรือพ้นโทษ โครงการจะให้ความช่วยเหลือมอบเงินสนับสนุนการใช้ชีวิตเบื้องต้น จำนวน 5,000 บาท พร้อมกันนี้ ยังจะทำหน้าที่ประสานงานเพื่อหาหน่วยงานหรือองค์กรที่พร้อมรับผู้มีคดีทางการเมืองเข้าทำงาน เพื่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างสดใสและมีคุณค่า และเรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับอดีตนักโทษทางการเมืองทุกคน
สมัครเพื่อรับจดหมายข่าวของเรา
ที่อยู่
66/4 ซอยลาดพร้าว 16 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
ติดต่อสอบถาม
อีเมล: [email protected]
สำนักงาน: +66 615 255 959
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ยอมรับทั้งหมด