ธงชัย วินิจจะกูล: นักโทษการเมือง และการถอนอาการป่วยเรื้อรังของสังคมไทย

หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายหลังเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือการชุมนุมประท้วงโดยเฉพาะที่จบลงด้วยการปราบปราม สิ่งที่เรามักได้เห็นเกิดขึ้นตามมาก็คือการจับกุม ดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า  นักโทษการเมืองขึ้นมาเป็นระลอก

หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นอกจากจบลงด้วยโศกนาฏกรรมความสูญเสียและการรัฐประหารแล้ว ยังมีการจับกุมแกนนำนักศึกษาและผู้เข้าร่วมชุมนุมมากมาย .ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ในฐานะแกนนำนักศึกษาในตอนนั้น  คือหนึ่งในผู้ถูกจับกุมและต้องกลายเป็นนักโทษทางการเมือง โดยเขาถูกคุมขังในเรือนจำเกือบ 2 ปี ก่อนจะได้รับการนิรโทษกรรมออกมาในปี 2521

แม้เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผ่านมาแล้วถึง 48 ปี รวมถึงมีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่วันนี้ เรายังพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเดินเข้าเรือนจำจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง การมีอยู่ของนักโทษการเมืองในสังคมแม้เราผ่านเหตุการณ์ ตุลามาหลายทศวรรษแล้ว จึงอาจมองได้ว่าเป็นภาพสะท้อนอาการเรื้อรังบางอย่างของสังคมนี้ที่ยังหาทางแก้ไม่ได้  

ในวาระครบรอบ 48 เหตุการณ์ 6 ตุลา Freedom Bridge จึงได้ชวน ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ในฐานะที่เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์และอดีตนักโทษการเมือง มองถึงสาเหตุของอาการเรื้อรังและหนทางในการถอนอาการเหล่านี้ออกไปจากสังคมไทย

 

นักโทษการเมือง ภาพสะท้อนอาการป่วยเรื้อรังของสังคมไทย

การมีอยู่ของนักโทษการเมืองเป็นเหมือนภาพสะท้อนว่าสังคมเรา ที่เรียกตัวเองว่าเป็น สังคมประชาธิปไตยยังมีความผิดปกติ เพราะยังมีประชาชนที่ถูกจับ ถูกคุมขัง เพราะคิดต่างและวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือผู้มีอำนาจ ความจริงแล้วปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เป็นอาการเรื้อรังในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต โดยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีนักศึกษาและประชาชนมากมายถูกคุมขังเพราะการแสดงออกทางการเมืองก็เป็นอีกหลักฐานที่สะท้อนชัดถึงอาการเรื้อรังนี้ของสังคมซึ่งในฐานะนักประวัติศาสตร์ และอดีตนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต้องเข้าเรือนจำในฐานะนักโทษการเมือง ธงชัยมองว่าไม่ว่าจะในสังคมไหน ยุคสมัยใดๆ การมีอยู่ของนักโทษการเมืองสะท้อนถึงการเมืองที่อยุติธรรม’ 

นักโทษการเมืองไม่ว่าสำหรับสังคมไหน มันสะท้อนการเมืองซึ่งมันอยุติธรรม อยุติธรรมมีได้หลายแบบ สําหรับสังคมไทยการเมืองอยุติธรรมคือการเมืองที่ชนชั้นนําจํานวนน้อยถูกคนประท้วง ถูกคนวิจารณ์ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง เขาก็ใช้อํานาจอยุติธรรม พูดอย่างชาวบ้านคือ รังแก และถ้าลงลึกไปอีกหน่อย ความยุติธรรมในสังคมไทย ผมว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย” อาจารย์ธงชัยกล่าว 

ปัจจัยแรกที่ธงชัยหยิบยกมาพูดถึง คือ การเมืองแบบอุปถัมภ์ ซึ่งเขาเน้นว่าไม่ใช่แค่การอุปถัมภ์ในรูปแบบของบ้านใหญ่ หรือการเมืองท้องถิ่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่ใหญ่โตและเป็นปัญหายิ่งกว่านั้น คือระบบราชการและกองทัพ ทั้งระบบราชการ และกองทัพเละเทะขนาดนี้ได้ เพราะว่าโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอํานาจของสังคมไทยที่ใหญ่กว่านั้นและที่เหนือไปกว่านั้น มันก็เป็นระบบอุปถัมภ์

ระบบอุปถัมภ์จุดที่มันฟังก์ชั่น และมีผลกระทบต่อสังคมในการขัดขวางการเปลี่ยนแปลง และสร้างให้คนไม่เท่าเทียมมากที่สุด ทั้งระบบการเมืองที่อยุติธรรม เพราะระบบอุปถัมภ์ยังมีลักษณะเฉพาะในสังคมไทยอีกอย่างหนึ่ง คือการอาศัยความมั่นคงเป็นข้ออ้างเรื่องความมั่นคงในนามของความมั่นคงมาเป็นเหตุผล ถ้าพูดให้ชัดกว่านั้นนอกจากการตีความความมั่นคงผิดๆ กว้างเกินไปแล้ว ทําให้ทุกอย่างเป็นเรื่องความมั่นคง คือสังคมไทยท่าไหนกัน ที่ยอมให้การตีความเลยเถิดขนาดนั้นเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่แค่การตีความ แต่สังคมชนิดไหน ที่ยอมให้มันเกิดขึ้นได้ ผมจึงอยากใช้ภาษาอังกฤษว่า มันเป็น Security Paranoid” 

มัน Paraniod กับอะไรที่กระทบความมั่นคงไปหมดธงชัยกล่าว 

ซึ่งอาการ Paraniod นี้ ธงชัยมองว่าแม้ส่วนหนึ่งอาจเป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ แต่ในอีกแง่ มันก็สัมพันธ์อยู่กับความคิด และความเชื่อในสังคมไทย ที่เมื่อได้ยินเกี่ยวกับความมั่นคง ก็ยินดียอมรับเหตุผลข้อนี้หมด จนนำมาสู่การขยายอำนาจกองทัพ และแทรกซึมไปในสังคมต่างๆ

 “ความอยุติธรรมจึงเป็นความอยุติธรรมที่มีพื้นฐานมาจากการเมืองแบบแบบอุปถัมภ์ ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านใหญ่ แต่ว่าเรื่องใหญ่สุด คือระบบราชการบวกกับ Security Paranoid ทําให้เรียกร้องความสามัคคี ซึ่งด้านกลับของการเรียกร้องความสามัคคี คือความใจแคบอาจารย์ธงชัยกล่าว

สําหรับสังคมไทย การเรียกร้องความสามัคคี หมายถึงความใจแคบ คือต้องการให้คนคิดเหมือนๆ กัน ทําเหมือนๆ กัน มีพฤติกรรมเหมือนๆ กัน ทั้งนี้ความสามัคคี หรือถ้าคิดในความหมายทั่วๆ ไป อาจจะเป็น Unity หรืออาจจะเป็น Harmony ไม่ถึงขนาดต้องเรียกร้องความเหมือนๆ กัน แต่ความสามัคคีแบบที่ไทยมันเรียกร้องความเหมือนกัน” 

ปัจจัยที่ 3 นอกจากการเมืองอุปถัมภ์ และ Security Paranoid แล้ว ธงชัยมองว่า เราอาจจะไม่มีเรื่องของนักโทษการเมืองถ้าหากระบบกฎหมาย และระบบกระบวนการยุติธรรมของเรามันแฟร์

แต่ปรากฏว่าระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมของเราก็ไม่แฟร์ เพราะกระบวนการยุติธรรมของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบอภิสิทธิ์ชนเช่นกัน และเผลอๆ ก็ยินดีรับใช้ Security Paranoid อย่างไม่เคยสงสัย ไม่เคยตั้งคําถาม ไม่เคยพยายามจะเช็ก ไม่เคยพยายามจะตรวจสอบ แต่กลับทําตัวเป็นตรายางที่ยอมรับข้ออ้างเหล่านั้นตลอดเวลา ผมคิดว่าสองสามปัจจัยเหล่านี้ ผลก็คือนักโทษการเมือง

แต่จาก 3 ปัจจัยนี้ ประเด็นของ Security Paranoid ทำให้เกิดคำถามว่า สังคมไทยเปราะบางขนาดนั้นจริงหรือถึงต้องมีความกังวลเรื่องความมั่นคงที่กินความหมายกว้างขวางอย่างที่เขากล่าว ธงชัยก็มองว่าในความเป็นจริงแล้ว รัฐเองไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น แต่เพราะต้องการให้ทุกคนเหมือนกัน จึงกลายเป็นความเปราะบาง 

ความเปราะบางไม่ได้หมายถึง ประเทศจะล่มจม แต่ความเปราะบางหมายถึงว่า ถ้าหากเราทําอะไรไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนๆ กัน อันนี้แหละเปราะบางมาก เริ่มต้นจากการที่ทําอะไรออกนอกลู่นอกนอกทางหน่อย ซึ่งการอยู่ในลู่ในทางก็แคบมาก อนุญาตให้คนออกนอกทางน้อยมาก ความต่างน้อยมาก คิดถึงโรงเรียนก็แล้วกัน โรงเรียนประถมมัธยม อนุญาตให้คนได้แตกต่างกัน แต่เอาเข้าจริงมันมีกรอบอยู่ ซึ่งแคบมากมาก ในแง่นี้เนี่ย เขาเปราะบาง” 

เขาตีความการอยู่ในลู่ในทางนี่ คือความสามัคคี และการต้องเหมือนๆ ก็คือ ความสามัคคี เพราะเขาถือว่ามันจะเป็นจุดตั้งต้นความแตกต่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ คิดแบบง่ายๆ คือการไม่เชื่อว่ามนุษย์ซึ่งแตกต่างกันมากกว่านั้น จะอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กรอบกว้างขึ้น เช่น กรอบของกฎหมาย กรอบของความเป็นชาติที่ยึดถือประชาชนที่แตกต่างกันเป็นพื้นฐาน เขาไม่ได้คิดในแง่นั้น เขาคิดในแง่ว่า ความมั่นคง หมายถึง การทําอะไรเหมือนๆ กัน ประเทศอาจจะไม่ได้ล่มจมกับความเห็นที่แตกต่างกัน แต่การออกนอกลู่นอกทาง คิดต่างกันเนี่ย มันจะทําให้เริ่มมีรู เกิดรอยร้าว รอยปริเล็กๆ ในสิ่งที่เขาเรียกความสามัคคีซึ่งแปลให้ชัดคือ ความเหมือนๆ กัน ในแง่นี้ เขาจึงเปราะบาง

ถ้าเราเปรียบการมีนักโทษการเมือง ว่าเป็นอาการป่วยเรื้อรัง ธงชัยก็เสนอว่า หากสังคมเราต้องการจะหายจากอาการป่วยเรื้อรังนี้ เราก็ต้องทำตรงข้ามกับปัจจัยที่เขาพูดไว้ทั้งหมด และต้องไม่เปราะบางกับความแตกต่าง

วาทกรรมของคำว่าสามัคคีที่มีความหมายเฉพาะ บงการความคิด และการกระทําของคนในสังคมไทย ที่มีความหมายว่า การทําอะไรเหมือนๆ กัน ในทํานองเดียวกัน ในกรอบแคบมากมาก ต้องเปลี่ยน ต้องทำให้เราสามารถสามัคคี หรืออยู่ด้วยกันได้ ในกรอบที่กว้างพอสมควร ให้ความแตกต่างมันเกิดขึ้นได้ อยู่ด้วยกันได้ คนเราไม่จําเป็นต้องคิดในสารพัดเรื่องเหมือนกัน เราอย่าใช้ความรุนแรงเข้าทําร้าย และเกณฑ์ของความแตกต่างน่าจะกว้างกว่านี้ ทั้งความแตกต่างในแง่การท้าทายอํานาจ การปฏิเสธ หรือการดื้อดึงต่ออํานาจ ต้องยอมให้เกิดขึ้น

ในแง่นี้ อาจารย์ยังอธิบายว่าการยอมรับความแตกต่าง ไม่ใช่แค่เรื่องของการที่รสนิยมทางอาหาร หรือแฟชั่นที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาใหญ่ของการบังคับให้คนเหมือนกันในสังคมไทย คือการเชื่อฟังอำนาจเหมือนๆ กันอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ระบาดไปตั้งแต่โรงเรียน จนถึงระดับประเทศ เป็นเรื่องการใช้อํานาจซึ่งกันและกัน คำไทยฟังดูอาจจะไม่รุนแรง คือคุณต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่ในความหมายของคำว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มันมีความหมายที่ลึก มีความหมายซึ่งมันรุนแรงมาก ก็คือความหมายที่คุณต้องเชื่อฟังอํานาจ ผลคือคนไทยแคร์เรื่องนี้ จึงเป็นประเด็นใหญ่

สำหรับทางออกของการรักษาอาการเรื้อรังนี้ อาจารย์ธงชัยสรุปว่า ต้องเกิดความยอมรับความแตกต่าง  ออมชอมรอมชอมให้ความแตกต่างยังอยู่ได้ และระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องมีลักษณะแฟร์

แฟร์คือยอมให้ความแตกต่างดํารงอยู่ได้ ไม่เกิดการเอาเปรียบกัน ทั้งหมดนี่จะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น ถามว่าจะให้อาการเรื้องรังหยุดได้ยังไง ผมก็ตอบเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าไม่ตอบเรื่องนี้ เห็นได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่แก้กันในไม่กี่ปี มันเป็นปัญหาที่ลึก สั่งสมมานาน

 

48 ปี 6 ตุลา: ความเหมือนและความต่าง ระหว่างนักโทษการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา และปัจจุบัน

นักโทษการเมืองเกิดขึ้นหลายระลอกในสังคมไทย นอกจากหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อเกือบ 5 ทศวรรษที่แล้ว ตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 จนถึงการลุกขึ้นประท้วงของประชาชนในช่วงปี 2563-2564 ก็ถือเป็นอีกระลอกของการเกิดนักโทษการเมือง ในฐานะผู้ที่ผ่านประสบการณ์การเป็นนักโทษการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ธงชัยได้เปรียบเทียบสถานการณ์นักโทษการเมืองใน 2 ยุคให้เราได้เห็นความแตกต่างกัน

ผมคิดว่าในสมัย 6 ตุลา ช่วงต้น 6-10 เดือนแรกของการเป็นนักโทษการเมืองในสมัยนั้น น่ากลัวกว่าตอนนี้เยอะ ความรู้สึกว่าเรามีสิทธิ์ตายในคุก เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ อย่าลืมว่าเราถูกจับผ่านการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมมาก ดังนั้นเข้าไปวันแรกๆ หลังจากที่คนส่วนใหญ่กว่า 3,000 คนถูกปล่อยไปแล้ว เหลืออยู่ไม่กี่ร้อยคน หลังจากพวกผมที่เป็นพวกตัวการถูกแยกออกมาชัดเจน ในใจทุกคนก็เตรียมใจไปว่าอาจจะเกิดอะไรที่แรงขนาดนั้นได้ มันน่ากลัวมาก

เขาบอกว่าคำว่า น่ากลัว หมายถึงอาจร้ายแรงถึงขั้นจบชีวิตในนั้นได้ แต่หลังจากผ่านไป 6-10 เดือน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเมือง โดยธงชัยระบุว่า กรณีกบฏ 26 มีนา ปี 2520 ที่จบลงด้วยการประหารชีวิตพลเอกฉลาด หิริญศิริ จากความพยายามทำรัฐประหารซ้อน ทำให้ได้เริ่มเห็นรอยขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นปกครอง ซึ่งในตอนนั้นธงชัยมองว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ โดยกรณีที่แย่คือการประหารพลเอกฉลาดอาจเลยเถิดมาถึงนักโทษการเมือง 6 ตุลาด้วย หรืออีกกรณีที่สถานการณ์ดีขึ้น จากความไม่เป็นเอกภาพของชนชั้นนำ ซึ่งสุดท้ายผลออกมาเป็นแนวทางหลัง

สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นอย่างหลัง เมื่อพ้นจาก 6 – 10 เดือนไป ความขัดแย้งในกลุ่มผู้ปกครองเป็นสัญญาณบอกพวกเราว่าเรามีโอกาสจะดีขึ้น ดีขึ้นไม่ได้จะได้ปล่อยนะ แต่น้อยที่สุดแล้ว การประพฤติปฏิบัติต่อพวกเราเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทางการเมืองแทบทุกสเต็ป กบฏ 26 มีนาเอย รัฐประหารของพลเอกเกรียงศักดิ์ล้มธานินทร์เอย โดยเฉพาะอันหลังเนี่ย วิธีปฏิบัติต่อนักโทษการเมือง 6 ตุลาเปลี่ยนทันทีเลย เหมือนเขารู้ว่า ไม่ช้าก็เร็วพวกเราจะได้ออก

อาจารย์ธงชัยยังเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า จากช่วงแรกที่ห้ามเข้าเยี่ยมเลย ภายหลังรัฐประหารโดยพลเอกเกรียงศักดิ์ไป ก็เปิดการเยี่ยมแทบทุกวัน ทั้งบรรยากาศยังผ่อนคลาย ตำรวจไม่คุมเข้มมาก เมื่อรวมกับกระแสของการเรียกร้องจากภายนอกที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เวลานั้นรู้สึกได้ว่ามีอนาคต

แต่เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ปัจจุบันอาจจะไม่ได้น่ากลัวในระยะ 6 – 10 เดือนแรก ไม่น่ากลัวฉับพลันขนาดนั้น แต่ ความเจ็บปวดมันช้า และยาว มันทรมานกว่า ทั้งสมัยนี้มีการต่อสู้ข้างนอกตลอดเวลา แต่เขาไม่ฟัง และไม่มีผลอะไรที่เขาต้องฟัง

อาจารย์ธงชัยเปรียบเทียบสถานการณ์นักโทษการเมืองยุค 6 ตุลา และปัจจุบันว่า ว่าปัจจัยสำคัญที่แตกต่างกันคือ ความเป็นเอกภาพของชนชั้นนำ

ในยุค 6 ตุลานั้น กลุ่มคนมีอํานาจในสมัยนั้นไม่มีเอกภาพ พร้อมๆ กับ เสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเรามันดังขึ้นทุกที เพราะความแตกแยกของกลุ่มคนมีอํานาจ ทําให้เขาต้องแคร์ต่อเสียงเรียกร้อง เพราะต้องหาประชาชนเป็นพวก  พูดกันให้แรง ให้มันน่าเกลียดก็คือ เขาต้องการอาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับพวกเขาเองด้วย เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของประชาชนนอกคุก เป็นปัจจัยที่มาช่วย เพราะมันไปผ่านภาวะที่พวกเขาไม่ได้มีเอกภาพ

แต่เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ธงชัยมองว่ากลุ่มชนชนชั้นนํามีเอกภาพอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา และความเป็นเอกภาพนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนมากนัก  

ในแง่นี้ทําให้เขาสามารถทําอะไรที่ไร้ยางอาย และไม่ต้องฟังเสียงประชาชนได้เยอะ เราเห็นได้จากระบอบประยุทธ์ เพราะเขาไม่มีความจําเป็นจะต้องแคร์ต่อสิ่งเรียกร้องของประชาชน แม้กระทั่งการให้ปรับปรุงเล็กๆ ในคุก แม้กระทั่งการให้รายงานว่าเกิดอะไรกับบุ้ง เขายังไม่แคร์ที่จะต้องทำ คนเหล่านั้นก็ไม่ถูกลงโทษ และที่สําคัญที่สุด การตัดสินของศาลในหลายกรณีที่เป็นปัญหาในสังคมไทยอื้อฉาวมากว่า ผิดหลักกฎหมายแต่โวยวายขนาดไหน เขาก็ไม่แคร์

สรุปได้ว่าใน 6 ตุลา ถึงแม้มันจะน่ากลัวขนาดไหน ผ่านไปซักระยะนึง มันมีความหวัง แต่สมัยนี้ผมรู้สึกตอนนี้อยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยมีความหวัง ความหวังของพวกเขาก็คืออยู่ในคุกให้ครบเทอม ซึ่งสําหรับหลายคนมันเกินไป มันก็มีทางด้วยการอภัยโทษ การลดโทษอะไรอีกจิปาถะ ไม่ใช่การครบเทอมก็จริง แต่มันก็โหดร้ายเกินไป ดังนั้นในแง่นี้ก็เหมือนกับว่าความไม่มีความหวังนั้นเหมือนฝากความหวังให้การอยู่ให้ครบเทอม ฝากความหวังไว้ให้กับการที่คุณต้องยอมสยบ มันโหดร้ายต่อวิญญาณของคนที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง อาจารย์ธงชัยกล่าวสรุป

 

พลังเรียกร้องของคนข้างนอก และการนิรโทษกรรมปี 2521

หลังถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ธงชัยอยู่ในเรือนจำในฐานะนักโทษการเมืองเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เขาเล่าว่าสิ่งที่ประทับใจจนถึงทุกวันนี้ คือการต่อสู้เรียกร้องของคนที่อยู่ข้างนอก รวมถึงของเพื่อนๆ ที่หนีเข้าไปสู้ในป่า 

เราประทับใจกับความกรุณาของคนที่มาเยี่ยม เราเป็นหนี้บุญคุณของคนที่ต่อสู้เรียกร้องให้พวกเราออกมา และ
อีกกลุ่มนึงซึ่งผมยังไม่ได้เอ่ยถึง แต่ผมคิดตลอดเวลา คือปัจจัยหนึ่งที่เรียกร้องให้ปล่อยพวกเรา ไม่ใช่แค่คนที่เรียกร้องที่มาเยี่ยม ไปศาล ต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง แต่รวมถึงเพื่อนๆ ที่สู้ในป่า แน่นอนเขามีอเจนด้าที่ใหญ่กว่าเรื่องการปล่อยพวกเรา แต่การปล่อยพวกเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่อยู่ในใจ ผมเชื่อมั่นว่าหลายคน โดยเฉพาะคนที่เข้าป่าไปด้วยความแค้น ที่ถูกปราบปรามจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมเคารพ และยกย่องคนเหล่านั้น” 

ธงชัยบอกกับเราว่า สำหรับนักโทษในเรือนจำที่เหมือนไม่มีความหวัง แม้กระทั่งความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่นั้น การต่อสู้ของคนข้างนอกกลายมาเป็นความหวังของนักโทษการเมืองในเรือนจำเราเห็นความพยายามสู้เพื่อบอกว่าเราไม่ผิด บอกว่าการมีอุดมคติ การพยายามเปลี่ยนแปลงสังคม มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด แล้วก็ยังทําอยู่ และทําแบบกล้าเสี่ยง ใช้ความเสียสละขนาดนั้น อย่างน้อยมันทำให้ชีวิตในคุกมีความหวัง ทั้งที่เราได้ยินข่าวจากพวกเขาไม่มาก มันไม่ใช่ความหวังว่าเราจะได้ออก แต่อย่างน้อยชีวิตมันมีอีกด้านนึง ที่เราฝากความหวังไว้ได้

และถึงแม้ในปัจจุบันคนเดือนตุลาหลายคนอาจถูกมองว่าเปลี่ยนไป แต่ธงชัยยังมองว่า ความกล้าหาญ และการเสียสละในอดีตก็ยังเป็นสิ่งที่เขานับถือ และเป็นหนี้บุญคุญทุกวันนี้หลายคนจะเพี้ยนเปลี่ยนไปมาก ก็ต้องวิจารณ์อย่างไม่ยกเว้น สําหรับผมผมยังแยกความกล้าหาญ ความเสียสละของพวกเขาในยุคนั้น อดีตก็เป็นอดีต เราเคารพกันได้ เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ เป็นหนี้บุญคุณกับพวกเขาได้ โดยที่ไม่ได้มีส่วนมาถึงปัจจุบัน พูดง่ายๆ ว่าการทะเลาะเบาะแว้ง การวิเคราะห์วิจารณ์กันในปัจจุบันไม่ได้ลบความรู้สึกที่ผมเคารพ ผมว่าเขาทําในสิ่งที่ประทับใจ และผมลืมไม่ลง

หลังอยู่ในเรือนจำเกือบ 2 ปี นักโทษการเมืองในคดี 6 ตุลา ได้รับการนิรโทษกรรม และถูกปล่อยตัวในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2521 ธงชัยเองก็ไม่สามารถตอบเราได้ว่า หากไม่มีการนิรโทษกรรมนั้น ชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร

ถ้าไม่มีนิรโทษกรรม ก็ไม่มีผมในวันนี้ การนิรโทษกรรมครั้งนั้น อาจจะอยู่จนแก่หัวโต การนิรโทษกรรมในครั้งนั้นมันเกิดขึ้นในภาวะที่รัฐบาลหรือชนชั้นนำถูกกดดัน ทั้งเขาขัดแย้งกันเองและถูกกดดัน ทั้งกระแสจากในประเทศและนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นมันไม่เพียงแค่การนิรโทษกรรมออกมาในเวลาไม่นานนัก  2 ปีต้องถือว่าไม่สั้นและยังไม่ยาวเกินไปนัก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมันมีส่วนง่ายขึ้นในการช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับสังคม คุณลองนึกดูว่าคนที่เจอสภาพแบบนั้น ไม่ใช่พูดแค่กรณีพวกเรา ผม หรือใครนะ โดยทั่วๆ ไป ถ้าหากเราไม่มองเขาเป็นตัวประหลาด กับคนที่ออกจากคุกแล้วถูกมองเป็นตัวประหลาดเนี่ย การเข้ากับสังคมมันยากง่ายต่างกันเยอะ  

การรื้อฟื้น การยอมรับของสังคมเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้น เพราะฉะนั้นคนออกจากคุกรุ่นผมเนี่ยมีปัญหาแบบนี้น้อย เพราะว่าสังคมไม่ได้ปฏิเสธ ไม่ได้มองว่าพวกเราเป็นตัวประหลาด ไม่ได้มองพวกเราเป็นตัวร้าย หรือมองพวกเราอย่างไม่เข้าใจ อาจารย์ธงชัยกล่าว

และท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความพยายามของภาคประชาชนในการผลักดันการนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมคดีการเมืองทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้ถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 ในมุมมองเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ อาจารย์ธงชัยมองว่าอาจไม่ง่ายนักเมื่อมองถึงความเป็นเอกภาพของชนชั้นนำในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และอาจทำให้ประเด็นมาตรา 112 เป็นเพดานที่ถูกขีดไว้สำหรับการนิรโทษกรรม ซึ่งนั่นจะทำให้การนิรโทษกรรมที่อาจเกิดขึ้นมีฟังก์ชั่นเป็นเพียงการลดความตึงเครียดของชนชั้นนำ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการนิรโทษกรรมไม่ควรเกิดขึ้น 

“ถามว่าถ้ามันเกิดขึ้น เราถือว่าเราควรจะควรจะดีใจไหม เราต้องดีใจสิ แต่คุณจะพอใจไหม อาจจะว่ากันอีกที”   


การมีนักโทษการเมือง คือตัวกำหนดเพดานของสังคม

ธงชัยยังมองว่า การดำรงอยู่ของนักโทษการเมือง อาจมองได้ว่าเป็นความต้องการของชนชั้นนำในสังคมไทยที่ต้องการสังคมซึ่งสงบราบคาบในสภาพคล้ายๆ กับสังคมแบบจีน ที่คนยังทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันต่อได้ มีความคิดสร้างสรรค์ในระดับหนึ่ง แต่ไม่วิจารณ์อำนาจรัฐหรือผู้มีอำนาจ เป็นการกำหนดเพดานของสังคมไว้ว่าประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องไม่กระทบกับเพดานเหล่านั้น  

แล้วในสังคมนี้ เราอาจจะมีสังคมซึ่งล้าหลังอย่างถาวร ล้าหลังไม่ได้หมายถึงต้องยากจน ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่มันจะล้าหลังอย่างถาวร เพราะความเปลี่ยนแปลงที่ไปข้างหน้า ที่ทัดเทียมคนอื่นได้ มันจะต้องอาศัยจินตนาการ อาศัยการสร้างสรรค์ ความกล้า การออกนอกกรอบ

แต่นอกจากการคุมขังดำเนินคดีเพราะการแสดงออกทางการเมืองจะกระทบต่อตัวบุคคลที่กลายเป็นนักโทษการเมืองแล้ว ธงชัยมองว่าผลกระทบที่กว้างขวางกว่านั้นคือ เป็นการตีกรอบให้ทุกคนในสังคม

คุณไม่คิดเหรอว่าคนทั้งสังคมที่อยู่ใต้เพดาน เป็นนักโทษการเมืองชนิดหนึ่ง เราทุกคนซึ่งไม่เคยเฉียดใกล้กระบวนการเป็นนักโทษการเมืองเลย ล้วนเป็นนักโทษการเมืองในสังคมที่เป็นคุกอย่างหนึ่งในความหมายว่ามีเพดาน มีกรอบให้คุณเดิน ถ้าคุณไม่สามัคคีในกรอบนั้น ก็เงียบๆ ซะ ถ้าไม่สามัคคีในกรอบนั้น ก็อย่าทําอะไรที่มันหนักหนานัก

ดังนั้นจุดประสงค์ใหญ่ของนักโทษการเมืองนั้นเป็นจุดประสงค์ที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้น แต่จุดประสงค์ใหญ่กว่านั้นคือสังคมทั้งสังคมที่จะถูกตีกรอบ ที่จะทําให้คุณเดินถนนได้เป็นวินสตัน (ตัวละครจากนวนิยาย 1984) เป็นซอมบี้ เขาต้องการตีกรอบตรงนั้นว่าอนุญาตให้คุณพูดได้เรื่องอะไรได้แค่ไหน ทําอะไรได้แค่ไหน ไม่ใช่แปลว่าเราไม่รู้จักมีความสนุกสนานรื่นเริง แต่ว่าห้ามแตะต้องอะไรก็แล้วแต่ที่ละเมิดต่ออํานาจ หรือละเมิดต่อกรอบที่เขาเรียกความสามัคคีอาจารย์ธงชัยกล่าวทิ้งท้าย

Share This Story

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า