“ถ้าไม่มีรัฐประหาร 19 กันยา 2549?”: คุยกับ ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ อดีตนักโทษทางการเมือง และความหวังถึงการนิรโทษกรรมที่ปลดล็อกความขัดแย้งในสังคมไทย

คำประกาศรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ทุกช่องในช่วงค่ำวันดังกล่าว  ทำให้วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย และถึงแม้ว่าจะผ่านมา 18 ปีแล้ว แต่ผลพวงของการรัฐประหารในครั้งนั้นก็ยังส่งผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นหมุดหมายที่ถูกมองว่า เป็นการเปิดประตูให้เกิดระลอกแรกของการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างจากการแสดงออกทางการเมืองในช่วงประวัติศาสตร์อันใกล้ เนื่องจากหลังการรัฐประหารกันยายน 2549 มีทั้งการฟ้องร้องคดีทางการเมืองต่างๆ มากมาย รวมถึงการฟ้องร้องคดี 112 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดคลื่นนักโทษทางการเมืองระลอกใหญ่หลังจากนั้น 

‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ อดีตนักสื่อสารมวลชน และนักกิจกรรม ก็เป็นหนึ่งคนที่กลายเป็นนักโทษทางการเมืองหลังจาก 19 กันยา 2549 โดยเขากลายเป็นนักโทษในคดี มาตรา 112 และถูกจำคุก 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2554 ก่อนจะได้รับอิสรภาพใน พ.ศ.2561 แต่ถึงแม้จะได้รับอิสรภาพแล้ว ตอนนี้เขายังโดนสั่งฟ้อง และอยู่ระหว่างสืบคดีในคดี มาตรา 112 อีกจากคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563

ในโอกาสครบรอบ 18 ปี รัฐประหาร 19 กันยา Freedom Bridge ชวนสมยศย้อนมองผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น ซึ่งเขามองว่า ถ้าไม่มีรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ในวันนั้น สังคมไทยก็คงไม่มีหน้าตาเหมือนวันนี้ และในวันนี้ที่ยังมีคนจำนวนมากถูกดำเนินคดี จับกุม คุมขัง เพราะการแสดงออกทางการเมือง การนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมนักโทษการเมืองทั้งหมด คือความหวังในการปลดล็อกปัญหาความขัดแย้ง แต่เขาก็มองว่าการผลักดันนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมดจะประสบความสำเร็จได้นั้นนอกเหนือจากแรงผลักดันจากภาคประชาชนแล้ว ก็ต้องการความมุ่งมั่นจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย  

 

ถ้าไม่มีรัฐประหาร 19 กันยา 2549

ถ้าเหตุการณ์รัฐประหาร 19  กันยา 2549 ไม่เกิดขึ้น เหตุการณ์สถานการณ์นักโทษการเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง คือคำถามแรกที่เราเริ่มพูดคุยกับสมยศ ซึ่งเขาก็มองว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์รัฐประหารในวันนั้น สังคมไทยจะไม่มีหน้าตาเป็นแบบนี้

“ถ้าไม่มี 19  กันยา สังคมไทยจะไม่มีรูปร่างหน้าตาแบบปัจจุบันแบบนี้ แล้วก็มีทั้งจุดที่ผกผัน แล้วก็จุดที่เป็นไฟต์บังคับที่มีต้องเกิดขึ้นด้วย อันนี้หมายความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่ทําให้เกิดสถานการณ์ใหม่ที่ แตกต่างไปจากเดิม นั่นก็คือว่า เกิดการรัฐประหาร และการเมืองเป็นเผด็จการ ทำให้มีการปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร”  สมยศกล่าว

สมยศยังมองว่า การต่อต้านรัฐประหารนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มนักกิจกรรม แต่ขยายเป็นวงกว้างในคนที่มองว่ารัฐธรรมนูญ 2540 นำมาซึ่งประชาธิปไตยที่กินได้ ซึ่งการออกมาต่อต้านรัฐประหารกลายเป็นจุดที่ทำให้คนโดนคดีเป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นระลอกใหม่ของนักโทษการเมืองเลย 

“คนก็เลยออกมาตั้งคําถาม และก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ซึ่งเราไม่เคยได้ยินเรื่องพวกนี้เหมือนกัน มันจึงเกิดปรากฏการณ์ของคําว่าตาสว่างเกิดขึ้นหลังจากมีขบวนการเสื้อแดงต่อสู้เรียกร้องให้คุณทักษิณกลับบ้าน หรือคืนความยุติธรรมให้คุณทักษิณเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตย”

“ตรงนี้ที่เป็นจุดกําเนิดของนักโทษการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการนํามาตรา 112 มาใช้เล่นงานผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร และคนที่โดนกล่าวหา มาตรา 112 ไม่ใช่เฉพาะคนที่ต่อต้านระดับที่มีชื่อเสียง แต่กลายเป็นชาวบ้านคนธรรมดา ทุกสาขาอาชีพที่ถูกโดนดําเนินคดี ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้านั้นเราแทบจะไม่ได้ยินถึงนักโทษ มาตรา 112 เลย  เข้าใจว่าตั้งแต่ปี 2516-18 มีอยู่ 1-2 ราย แต่ถ้าเราดูตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมาก็เกิดขึ้นประปราย อาจจะมีบางคน เช่น วีระ มุสิกพงศ์ ก็ แต่ว่าครั้งนี้เป็นระดับที่เรียกว่า ชาวบ้านคนธรรมดา กระจายไปทุกสาขาอาชีพที่ถูกจับกุมคุมขัง” สมยศกล่าว

สมยศมองว่าหลังการเกิดขบวนการเสื้อแดงที่ลงถนนประท้วงใหญ่ 2 ปีติด คือ 2552-2553 ซึ่งจบลงด้วยการที่คนเสื้อแดงถูกปราบปรามนองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2553 จำนวนนักโทษการเมือง หรือผู้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองก็ทยอยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรัฐประหารอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2557  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมีทั้งคนที่โดนคดี 112 และคดีอื่นๆ เช่นคดีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน  ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของไทยที่ถดถอยลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา 

 

นักโทษทางการเมือง และการหล่อเลี้ยงความหวัง

สมยศมีบทบาทเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานมาอย่างยาวนานหลายสิบปี และมีส่วนในการร่วมผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น สิทธิลาคลอด 90 วัน การประกันการว่างงาน และการผลักดันระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ถูกผลักดันจนประสบความสำเร็จ และหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมยศเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารโดยร่วมตั้งกลุ่ม “24 มิถุนาประชาธิปไตย” 

แต่สมยศต้องเดินเข้าเรือนจำในฐานะนักโทษทางการเมืองหลังเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ด้วยข้อหามาตรา 112 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Taksin) ซึ่งตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แม้สมยศไม่ได้เป็นผู้เขียนบทความทั้งสองชิ้นนี้เอง คดีนี้ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างไร้อิสรภาพในเรือนจำอยู่นานถึง 7 ปี แม้เขาพยายามยื่นประกันตัวรวมอย่างน้อย 16 ครั้ง และเคยวางเงินประกันสูงสุดถึง 4,762,000 บาท แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว  

สมยศบอกว่าสำหรับนักโทษทางการเมืองแล้ว นอกจากอิสรภาพที่ถูกพรากไปซึ่งส่งผลรุนแรงต่อจิตใจ ตลอดจนสภาพความเป็นอยู่ทางกายภาพที่ย่ำแย่ อีกประเด็นที่นักโทษทางการเมืองโดยเฉพาะคนที่โดนคดี 112 เผชิญก็คือการถูกเลือกปฏิบัติจากทัศนคติของทั้งผู้คุมและนักโทษคนอื่นในเรือนจำ 

มีปัญหาอยู่อย่างนึงก็คือว่า นักโทษโดยทั่วไป เขามีความหวังในการปล่อยตัว อยู่ที่การได้รับพระราชทานอภัยโทษ เช่นวันเฉลิมพระชนมพรรษา แต่พอพวกนี้โดนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นักโทษคนอื่นๆ ก็จะไม่ยินดีด้วย และอาจจะมีแรงกดดันในความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษด้วยกัน หรือถึงขั้นทุบตีทําร้ายก็มี ไม่เกิดกับผมนะ แต่เกิดกับคนอื่น” 

“คุณโดนคดี 112 ทัศนคติทั้งผู้คุมเจ้าหน้าที่แล้วก็นักโทษ มองเป็นสิ่งเลวร้าย มองเป็นคนแปลกหน้า ถ้ามีเหตุวิวาท มึงทุบเลยอะไรอย่างนี้ หรือต้องไปทํางานแบบไปขัดส้วมไปอะไรอย่างนี้ เขามองคดีแบบนี้ เหมือนกับอาชญากรรม แย่กว่าพวกฆ่าคนตาย ทั้งๆ ที่โทษต่ำกว่านะ” สมยศกล่าว 

การต้องกลายเป็นนักโทษการเมืองไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเองที่ต้องอยู่ในเรือนจำแล้ว ครอบครัวของสมยศที่อยู่ข้างนอกก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ทั้งที่ต้องเปลี่ยนนามสกุล หรือเลิกรากันไป ไปถึงการที่มีสมาชิกในครอบครัวถูกควบคุมตัวไปค่ายทหารหลังรัฐประหารปี 2557 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกดำเนินคดีการเมือง และในวันที่ยังมีผู้ที่ต้องกลายเป็นนักโทษเดินเข้าเรือนจำอยู่ต่อเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง สมยศก็ตั้งข้อสังเกตว่า เห็นมุมมองของคนในสังคมวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากกว่า 10 ปีก่อน  

“สังคมส่วนหนึ่งก็ยังประณามเยาะเย้ย ถากถาง แต่ส่วนหนึ่ง เขาก็เห็นว่านี่คือนักโทษทางความคิดนี่คือผู้ที่คิดต่างนะ และนี่คือสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หรืออย่างบางองค์กร สมัยนั้นเขาก็ไม่กล้าพูดเรื่อง มาตรา 112 มากนัก เขาก็รณรงค์แค่กับผมที่โดนคดี ไม่ได้รณรงค์ถึงนักโทษทุกคน แต่ตอนนี้เขาก็พูดถึงนักโทษทุกคนแล้ว ทั้งยังมีศูนย์ทนายฯ เกิดขึ้น เมื่อก่อนไม่มี เราต้องออกเงินเพื่อทนายความเอง และราคาเป็นแสนบาทเพื่อต่อสู้คดี อันนี้ก็กระทบกับการใช้จ่ายในครอบครัว ตอนนี้ก็มีศูนย์ทนายฯ และมีองค์กรสิทธิมนุษยชนรณรงค์มากขึ้น มีประชาชนที่เห็นอกเห็นใจ เช่น บริจาคเงินให้กองทุนราษฎรประสงค์ มีจ่ายเงินให้กองทุนช่วยเหลือเพื่อนผู้ต้องขังของอานนท์ นำภา ทําให้มีรายได้พอจะยังชีพ ไม่อัตคัดขัดสนจนเกินไปในการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจํา”

โดยสมยศยืนยันว่า การเป็นกำลังใจ สนับสนุน เกื้อกูลของประชาชนที่อยู่ข้างนอก มีผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจของคนที่อยู่ในเรือนจำในฐานะนักโทษทางการเมือง  ประสบการณ์ 7 ปีหลังกำแพงเรือนจำของเขาเป็นเครื่องยืนยันถึงสิ่งนี้ได้ดี  เพราะแม้สถานการณ์ข้างในจะถูกเลือกปฏิบัติ หรือหดหู่เพียงใด แต่เขายังได้รับกำลังใจจากการรับรู้ข่าวสารและแคมเปญรณรงค์ให้ปล่อยตัว หรือ “Free Somyot” ที่เกิดขึ้นภายนอกเรือนจำ

สมยศบอกว่าสมัยก่อนนั้นการมาเยี่ยมผู้ต้องขังไม่ได้จำกัดแค่ 10 คนเหมือนในปัจจุบัน แต่ใครก็สามารถไปเยี่ยมได้ และเข้ามาเยี่ยมในห้องใหญ่พร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นโอกาสทำให้เขารับรู้ข่าวสารภายนอกว่ามีการเคลื่อนไหวแสดงพลังรณณงค์ให้ปล่อยตัวเขาเกิดขึ้น และนี่เป็นเหมือนกำลังใจของนักโทษการเมือง

“พอรู้ว่ามีแคมเปญ เราก็รู้สึกว่ายังไม่สิ้นหวัง และรู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว แล้วก็คืออย่าเพิ่งตาย ไม่เป็นไร เราต้องออกไปขอบคุณพวกเขา มันทําให้เกิดความรัก ความเอื้ออาทร คนที่ติดคุก คือคุณถูกตัดขาดจากสังคม คุณไม่สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม กับครอบครัว เพื่อนฝูงการทํางาน ชีวิตทางสังคมมันมันแตกต่าง เพราะฉะนั้นการที่มีข้อความ จดหมาย มีความห่วงใยตรงนี้ มันทําให้คุณมีชีวิตที่มีความหวังและก็เป็นชีวิต คือเมื่อไรก็ตามที่คุณสิ้นสุดซึ่งความหวัง คุณไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้วใช่ไหม อันนี้ก็เป็นแรงขับเคลื่อนอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการได้ข่าวสารนั่นเอง สิ่งเหล่านี้สําคัญที่หล่อเลี้ยงการมีชีวิตอยู่”

“นักโทษที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่คือ นักโทษที่ไม่มีความหวัง คือสิ้นหวัง เค้าเลือกที่จะแขวนคอตาย เลือกที่จะกินยาพิษ เช่น กินสบู่ กินแฟ้บ บางคนก็ใช้ฝากระป๋องกรีดเลือด ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ในเรือนจํา เพราะฉะนั้นการสื่อสารหรือการมีกําลังใจ มันทําให้เค้าแบบต้องมีชีวิตให้ได้ ต้องผ่านพ้นความยากลําบากไปได้ ยังมีเพื่อนอีกคนที่เข้าใจเรา มีคนที่ต่อสู้กับเราอยู่” 

สำหรับสมยศเขาไม่เพียงได้รับกำลังใจจากในประเทศไทย แต่เรื่องราวของเขายังโด่งดังไประดับโลก ซึ่งเป็นเหมือนพลังที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเขา โดยเขาบอกว่าได้รับโปสการ์ดจากนักเรียนที่โรงเรียนในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ทำให้เขารับรู้ว่าเรื่องราวของเขาถูกเล่าต่อๆ ไป ซึ่งทําให้รู้สึกว่าการถูกคุมขังคือการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ และไม่สูญเปล่า

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการในคุกอันคาทาส สหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จัดแสดงโดยอ้ายเวยเวย ศิลปินชาวจีน ที่นำเรื่องราวของสมยศ ไปเล่าในนิทรรศการเกี่ยวกับนักโทษการเมืองทั่วโลก และจากงานนี้ เขาก็ได้รับโปสการ์ดกว่า 6,000 ใบ ส่งมาให้ถึงเรือนจำ ซึ่งทำให้เขารู้สึกใจฟูขึ้นมา แล้วมีความหวังว่า อย่าเพิ่งรีบตาย ทนได้อยู่ไปก่อน

 

นิรโทษกรรม ความหวังปลดล็อกความขัดแย้ง

ในวันนี้ที่มีความเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคมในการผลักดันนิรโทษการรมนักโทษทางการเมือง ครอบคลุมผู้ต้องขังคดี 112 แต่สมยศมองว่าการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ หากฝ่ายรัฐไม่มีทิศทางและความมุ่งมั่นที่จะปลดล็อกปัญหานี้  เขาบอกว่าแม้ตอนนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ที่ผ่านมาเขาก็ยังรู้สึกว่าการเดินหน้าปลดล็อกประเด็นนักโทษทางการยังน่าผิดหวัง 

“ความผิดหวังของเราก็อยู่ตรงนี้ จริงๆ แล้วคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 คดีการชุมนุมสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น หมิ่นประมาทศาล หรืออะไรต่างๆ มันเป็นผลเนื่องมาจากการที่ประชาชนต่อต้านการรัฐประหาร จริงๆ แล้วพวกผมก็ใช้ชีวิตตามสิทธิเสรีภาพปกติในสังคมประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ การรัฐประหาร อํานาจรัฐ การแสดงออกทางการเมือง เพียงแต่ว่าพอการเมืองมันเปลี่ยนเป็นเผด็จการ การกระทําเช่นนั้นถือเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้นเนี่ยเราหวังว่า ถ้าสังคมจะเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลพูดว่าฉันเป็นประชาธิปไตยแล้ว คุณต้องปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพระหว่างเผด็จการ แต่นี่คุณเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และคุณบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ทําไมคุณไม่ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งเขาใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติ ในสังคมพลเรือนเขาเป็น active citizen ด้วยซ้ำไป ดังนั้นพอมาเป็นประชาธิปไตย หน้าที่ของรัฐบาลใหม่ต้องปล่อยนักโทษการเมืองไป แต่การที่คุณไม่พูดถึงเขาเลย อันนี้คือสิ่งที่จะบอกว่า มันไม่เป็นประชาธิปไตย”


“มีทั้งคนที่ติดคุกติดตะรางจนบ้านแตกสาแหรกขาด คนที่ติดคุกจนผิดเพี้ยนกลายเป็นจิตเวช เขาปรารถนาประชาธิปไตย เขาอยากเห็นบ้านเมืองมีความเป็นธรรม มีความยุติธรรมมีเสรีภาพ และติดคุก อันนี้เป็นความรู้สึกเจ็บปวดมาก สําหรับคนที่ต่อสู้ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นอานนท์ นําภา เก็ท โสภณ หลายๆ คนเหล่านี้เขาเสียสละ เขาเอาอิสรภาพเอาชีวิตของตนเอง เพื่อยืนยันเสรีภาพ และใช้ชีวิตเป็นนักโทษการเมือง แต่สังคมเนี่ยตอบแทนพวกเขายังไง แล้วสังคมจะไม่ก้าวหน้าไปเลย ถ้าเราทิ้งพวกเขาอยู่ข้างใน คุณจะเดินไปยังไงบนหัวของคนเหล่านี้ บนชีวิตของคนเหล่านี้ คุณจะพร่ำพูดเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสันติภาพ เรื่องความเป็นอยู่ที่ดีได้ยังไง ถ้าความเป็นธรรมไม่เกิดขึ้น ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้น คุณยังไม่ปลดปล่อยนักโทษการเมือง อันนี้คุณต้องพินิจพิเคราะห์ทําความเข้าใจ มันไม่สามารถแยกออกจากการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้” 

“ไม่ควรมีคนที่มีความเห็นปรารถนาดีต่อบ้านเมืองแล้วต้องติดคุกติดตะราง ถ้าตอนนี้คุณยังไม่ปลดล็อกนักโทษการเมือง ก็จะนําไปสู่ความขัดแย้งแบบใหม่ไม่จบ ไม่ว่าจะเหลือ (นักโทษการเมือง) คนเดียวนะ ความขัดแย้งก็ไม่จบ มันพร้อมจะระเบิด มันสะท้อนความเสื่อมโทรมความล้าหลังซึ่งมันขัดแย้งกับยุคสมัย ขัดแย้งกับความเป็นไปของบ้านเมือง” สมยศกล่าวทิ้งท้าย 

Share This Story

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า