“ถ้าเราตายก่อนบูมได้ประกันตัว แล้วลูกจะอยู่กับใคร?” คุยกับ “แพร” แม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง และภรรยานักโทษการเมือง

ตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว “บูม” จิรวัฒน์ พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ วัย 32 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์ ถูกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ปัจจุบันจิรวัฒน์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

เป็นเวลากว่า 200 วันแล้วที่ครอบครัวของบูมรอคอยการกลับมาของ “สามีและพ่อ” แม้จะมีการยื่นประกันมากว่า 10 ครั้ง แต่ศาลยังคงยกคำร้อง โดยระบุไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง Freedom Bridge พูดคุยกับ “แพร” (นามสมมติ) ภรรยาของบูม ถึงชีวิต ความคิด ผลกระทบในช่วงเวลากว่า 200 วัน ที่ไม่มีสามีที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่เคียงข้าง

“แพร” และ “บูม” รู้จักและคบหาเป็นแฟนตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนแต่งงาน 5 ปีให้หลัง รวมระยะเวลาราว 10 ปี ที่พวกเขาดูแลกันและกัน

แพรบอกว่าบูมกับเธอสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการทำธุรกิจมาด้วยกัน เพราะเป็นพวกชอบทำงานและทำงานหนัก หาอะไรมาขายได้ก็มักจะสรรหามาอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดทำงาน พวกเขามีลูกสาว 1 คน ซึ่งปัจจุบันอายุ 5 ขวบใกล้ 6 ขวบแล้ว โดยในวันฟังคำพิพากษานั้น บังเอิญเป็นวันเกิดของลูกสาวพอดี และกลายเป็นวันที่บูมไม่ได้เดินทางกลับบ้านไปด้วยกัน

เราชวนแพรเล่าย้อนกลับไปยังช่วงเวลา 3 ปีก่อน นาทีแรกที่ได้ทราบว่า บูมมีคดีความ และตกใจยิ่งกว่าเมื่อทราบว่าคนแจ้งความเป็นญาติแท้ ๆ ของตัวเอง

 

ญาติที่โตมาในบ้านรั้วเดียวกัน แจ้งความสามีตัวเอง

“ช่วงที่มีจดหมาย (หมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา) มาที่บ้านพ่อแม่ของบูม ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดระบาดหนัก เมื่อ 3 ปีก่อน หนูกับบูมติดโควิด รักษาตัวกันอยู่ที่โรงพยาบาล ตอนนั้นลูกอายุประมาณ 2 ขวบ ก็เลยฝากลูกไว้กับญาติก่อน แล้วก็ไปรักษาตัวประมาณอาทิตย์สองอาทิตย์”

แพรบอกว่า ความรู้สึกแรกที่ได้รับหลังจากเห็นภาพหมายเรียกที่แม่ของบูมส่งมาให้ดูทางโทรศัพท์ คือรู้สึก “งุนงง” หลังจากนั้นแม่ได้ถ่ายชื่อคนแจ้งความมา ทำให้แพรทราบว่าคนแจ้งความคือญาติของเธอที่เติบโตมาในรั้วบ้านเดียวกัน

“เราตกใจว่าคนที่ฟ้องเป็นญาติเรา ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น บูมเขาแชร์อะไรไป ประจวบเหมาะกับตอนนั้นเราค้าขายออนไลน์แล้ว ใส่รหัสเฟซบุ๊กผิด โดนล๊อกเฟซบุ๊กส่วนตัวทำให้เข้าไปดูอะไรไม่ได้เลย ก็เลยไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร ได้มาเห็นตอนมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว คนที่ฟ้องแคปมาหมดเลย”

 

สู้กับกระบวนการยุติธรรม และสู้กับมะเร็งไปพร้อมกัน

แพรเล่าต่อไปว่าเมื่อทั้งคู่หายจากโควิดซึ่งขณะนั้นใช้เวลารักษาเกือบ 1 เดือน บูมก็เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา

“พอออกมา ก็ไปสถานีตำรวจ หลังจากรักษาโควิดหายเกือบเดือน ตำรวจก็สอบสวน มีคนแนะนำมาว่าให้ติดต่อมาที่ศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่นั้นก็เลยคุยกับศูนย์ทนายฯ มาโดยตลอด”

แม้บูมจะมีความสนใจในการเมืองอยู่เดิม แต่แพรยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เป็นคอการเมือง โดยแทบไม่ได้ติดตามข่าวสาร เพราะทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ

“วันๆ หนูทำแต่งาน ตี 5 ครึ่งตื่นไปส่งลูก หลังจากนั้นทำงาน 7 โมงครึ่งถึง 8 โมง กลับไปอยู่บ้านพ่อ 1-2 ชั่วโมง ออกมาทำงาน แล้วก็ไปรับลูก 2-3 ทุ่มเข้าบ้าน หลับ ตื่นมาทำงานเที่ยงคืนตี 1 หนูกับบูมกลับบ้านดึก ๆ ชอบหาอะไรมาขาย ทำไปเรื่อยๆ ขายได้ก็เอามาขายอีก แต่เงินลงทุนไม่ได้เยอะนะ”

“ระหว่างที่สัมภาษณ์อยู่นี้ก็ขายไปได้หลายตัวอยู่นะ เมื่อก่อนเราแพ็คของกันหน้าตั้ง ทำเองทุกขั้นตอน นอน 4 ชั่วโมงทุกวัน ทำงานหนักมาก แต่ตอนนี้เราทำทุกอย่างคนเดียว และต้องทำทุกอย่างน้อยลง เพราะเราไม่ไหว”

ภายหลังบูมถูกสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ก่อนจะนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 25 เมษายน 2566 และวันที่ 27 – 29 กันยายน 2566 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่บูมกำลังต่อสู้คดีในปี 2566 แพรก็พบสัญญาณของความเจ็บป่วย

“หนูเริ่มรู้ว่าหนูป่วยตอนกุมภาพันธ์ วันที่ 13 ปีที่แล้ว เราเคยใช้ชีวิตมาปกติ เหมือนวัยรุ่นทั่วไปแล้วก็ทำงานๆ  จนมีอยู่วันนึงที่รู้สึกว่ามีก้อนที่หน้าอก แต่ก็ไม่กล้าไปตรวจ ตอนแรกคิดว่าตัวเองท่อน้ำนมตัน เพราะว่าเราก็ให้นมลูกเอง เลยคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไร”

“จนเวลาผ่านไปคืนหนึ่ง ปวดจนนอนไม่ได้ ปวดจี๊ดๆ เหมือนมดกัดข้างในร่างกาย ต้องไปหาหมอ ไปเมมโมแกรมดู ไปหาหมอหลายที่ พบว่ามีก้อนถึง 3 ก้อนที่เต้านม หมอบอกว่าเสี่ยงมากที่จะเป็นมะเร็ง ก้อนใหญ่ที่สุดใหญ่ 4.75 เซนติเมตร และมันลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง”

แพรชี้ให้ดูแขนด้านซ้ายของเธอ ตั้งแต่ไหปลาร้าลงไป ซึ่งผิวแห้งเล็กน้อยเป็นผลมาจากการฉายแสงรักษามะเร็ง

“หนูตัดหมดเลยต่อมน้ำเหลือง ที่แขนด้านซ้ายตอนนี้ไม่รู้สึกอะไรเลยยุงกัดก็ไม่รู้สึก เพราะว่าน้ำเหลืองไม่มีแล้ว ตอนนี้ยกมือก็ยกสุดไม่ได้ ตอนนี้ตัดหน้าอกไปหนึ่งข้าง แขนด้านซ้ายผิวแห้งมาก ถ้าลองสังเกตดู หมอก็ให้ทาครีมของโรงพยาบาล แต่ใครๆ ก็พูดว่าหนูไม่เหมือนเป็นคนที่เป็นมะเร็ง แต่หนูก็บอกว่า “มึง…กูเป็น” วิ่งยังวิ่งไม่ค่อยได้เลย เหนื่อย”

แพรพูดถึงกระบวนการรักษาของเธอที่ดำเนินไป ในช่วงเวลาเดียวกับที่บูมก็ต้องต่อสู้คดีไปด้วย

“เราให้คีโมทุกสามอาทิตย์ รวมๆ แล้วก็ประมาณ 8 ครั้งในครึ่งปี พอเราคีโมจบก็ผ่าตัดเต้านมเลย แต่ระหว่างที่เรากำลังฉายแสงอยู่ เราก็ดันไปตรวจเจอก้อนที่รังไข่ด้วย ไม่ได้เป็นก้อนมะเร็ง แต่ก็เป็นก้อนเนื้องอกขนาด 6 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่มาก ตอนนี้ตัดรังไข่ไปแล้วหนึ่งด้าน จริง ๆ แล้วต้องตัดรังไข่ทั้งหมด ตอนนี้เราเหมือนคนเป็นหมัน

แพรบอกว่าเธอดูแลตัวเองได้เสมอตราบใดที่ยังมีบูมช่วยกันดูแลลูก บูมไปโรงพยาบาลกับเธอแค่หนึ่งครั้งตลอดการรักษา จากนั้นเธอสามารถขับรถไปรับคีโมเอง และกลับบ้านมาได้

“หลังรู้ว่ามีคดี บูมพยายามสร้างระบบการทำงานขึ้นมา เพราะเขาคิดไว้อยู่แล้วว่าต้องโดนแน่ๆ (ติดคุก) เขาคิดของเขาเอง ตอนที่ได้ประกันตัวออกมาช่วงระหว่างสืบพยาน เขาเลยวางแผนชีวิต บอกว่าเราต้องทำนั่นทำนี่”

“รู้ไหมว่าวันที่ฟังคำพิพากษา 6 ธันวาคมปีก่อน เป็นวันเกิดลูกหนูพอดี วันนั้นหนูร้องไห้เลย ช่วงนั้นพอเรารู้วันตัดสิน ปีที่แล้วเป็นปีที่หนูให้คีโม 8 ครั้ง ผ่าตัดไป 2 รอบ รักษามะเร็ง หนูฉายแสงวันสุดท้ายวันที่ 2 ธันวาคม วันที่ 3 ก็ชวนบูมไปเที่ยวกัน หัวล้านๆ แบบนั้นแหละ คีโม ผ่าตัด ฉายแสงจบ พอวันที่ 6 เขาก็ติดคุกเลย”

แพรบอกว่าถึงแม้จะตัดรังไข่ไปแล้วหนึ่งด้าน และคงอีกด้านไว้เพื่อผลิตฮอร์โมน แต่รังไข่ที่เหลืออยู่ก็ดูจะมีปัญหาจากการที่เธอได้ไปตรวจสุขภาพตามรอบก่อนให้สัมภาษณ์ไม่นาน

“เราก็โตมาผ่านร้อนผ่านหนาว พูดจริงๆ ตอนนี้เหมือนคนอายุ 50 แล้ว มะเร็งก็เป็นมาแล้ว แฟนเข้าคุกก็เจอมาแล้ว เหมือนประสบการณ์ชีวิตมันสอนเรา ว่าเราต้องดูแลตัวเอง  อันไหนไม่ไหวเราก็แค่พูด เมื่อวานหนูไปซีทีสแกนมา ผลออกมาไม่ดี หมอบอกว่าน่าจะต้องผ่าตัดอีกครั้ง ทำให้เราเครียดมาก หนูบอกเขาว่าหนูขอเวลาหน่อย อยากให้บูมได้ประกันและออกมาดูลูกก่อน เราถึงจะไปผ่าตัดได้

“ก้อนที่อยู่ข้างใน เราไม่เจ็บเลย มีแค่บางครั้งที่ประจำเดือนมาแล้วจะปวดท้อง นอกจากนี้ค่ามะเร็งของหนูก็ขึ้นด้วยเกือบสองเท่า น่าจะเป็นผลจากความเครียด เราไปตรวจเลือดวันที่ 9 กรกฎาคม แต่ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎา รู้เลยว่าตัวเองนอนไม่พอ เพราะนอนดึก เหมือนมีเรื่องในหัวเยอะ ทั้งงาน ทั้งอะไร มันกดดันมาก มะเร็งก็เป็นสิ่งที่อาการทรงๆ พูดไม่ได้ว่าเราจะหาย”

“ซึ่งส่วนนี้ที่เราเป็นกังวล เพราะผัดหมอเรื่องการผ่าตัดมดลูกเพิ่มเติมมาสองเดือนแล้ว เราเป็นห่วงลูก กลัวว่าถ้าผ่าตัดจะไม่มีใครดูแลลูก และไม่มีใครทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว เพราะเราต้องพักฟื้น แต่หยุดทำงานไม่ได้”

 

แม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง และภรรยานักโทษการเมือง

การกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ขณะที่สามีต้องมาติดคุกอาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่หนักอึ้งสำหรับแพรแล้ว แต่ในฐานะแม่และผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กคนหนึ่ง แพรยังมีอีกหลายบทบาทที่ต้องบริหารจัดการ การที่บูมต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้แพรต้องแบกรับธุรกิจที่เคยทำด้วยกันเพียงลำพัง ตลอดการสนทนากว่าสองชั่วโมง แพรต้องรับโทรศัพท์มากกว่า 6-7 สาย และทำงานไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกนาทีหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาในครอบครัวเพิ่มขึ้น

“การทำธุรกิจต่อ มีธุรกิจที่ทำร่วมกันมาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำได้ดีเหมือนเดิม เนื่องจากเมื่อก่อนเราเป็นคนที่ทำงานหลังบ้าน ส่วนบูมเป็นคนที่ทำงานหน้าบ้าน ยังมีลูกค้าถามหาเขาตลอด หนูก็บอกว่าเขาไปธุระ ก็ต้องพูดแบบนี้ตลอด”

แพรบอกอีกว่าผลกระทบใหญ่ด้านการงานที่ครอบครัวต้องเจอ คือการต้องปิดร้านขายเสื้อผ้า

“เราทำหลายอย่าง ขายเสื้อผ้าออนไลน์ไซส์ใหญ่ หาของจุกจิกมาขาย เคยเปิดร้านขายเสื้อผ้า แต่พอบูมเข้าไปข้างใน ก็ไม่มีใครที่จะช่วยดูร้านได้ เลยต้องปิดร้านไป เพราะหนูทำหลายอย่างไม่ไหว และสุขภาพของเราก็เริ่มไม่แข็งแรงด้วย”

“(นิ่งเงียบ)…จริง ๆ เราไม่ได้ห่วงเขาเลย เขายังมีพ่อ มีแม่ มีน้อง แต่ลูกเรา มีแค่เรากับเขาที่เป็นเสาหลักให้ แล้วเขาอยู่ข้างใน ส่วนเราอยู่ข้างนอกแล้วไม่สบาย เราไม่ได้ไม่ไว้ใจตายาย ทุกคนหวังดีกับลูกหมด แต่เราก็อยากเห็นลูกเราเติบโตไปตามวัยของเขา เราเลยอยากให้เขาออกมา สักปีก็ได้ อย่างน้อยมาดูลูก ให้เราได้ไปรักษาตัว เรารู้นะ ว่าเขาต้องกลับเข้าไป”

“พูดจริงๆ กลายเป็นคนกลัวตายไปเลย เพราะกลัวว่าจะไม่มีใครดูลูก กลัวว่าจะไม่มีใครหาเงินให้บูมกินข้าว”

แพรบอกว่าตอนนี้ต้องเริ่มพูดคุยกับบูมอย่างจริงจัง ถึงเรื่องวิธีการดูแลลูก หากเธอจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดซึ่งประวิงเวลามากว่า 2 เดือนแล้ว

“หนูก็ว่าหนูเข้มแข็งนะ หนูก็สู้ชีวิตของหนู แต่ผ่านไปเดือนๆ นึงก็ไม่มีเงินเก็บหรอก แต่ก็ทำให้มันผ่านๆ ไป แต่ตอนนี้ก็เริ่มจะต้องวางแผนแก้ปัญหาแล้ว ถ้าเกิดว่าเขาอยู่ในเรือนจำระยะยาว ถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่เราจะต้องเข้ารับการผ่าตัด จะทำยังไงต่อ เพราะมันจะหาเงินไม่ได้ มีปัญหากับเรื่องธนาคารมาก เพราะทุกอย่างเป็นชื่อบูมหมด ธนาคารไม่ให้คนอื่นทำอะไรได้เลย”

เป็นโชคร้ายซ้ำซ้อนในฐานะคนทำธุรกิจที่ก่อนเข้าเรือนจำ บัญชีของบูมโดนอายัดทั้งหมดเนื่องจากมีคนร้ายเอาบัญชีของเขาไปหลอกให้คนโอนเงิน

“ถึงเราจะเคลียร์เรื่องได้ แต่บัญชียังคงโดนอายัด และถ้าจะแก้อายัด ธนาคารยืนยันว่าบูมต้องเป็นคนมาทำเรื่อง เอง ถ้าบูมไม่ออกมาเราทำอะไรไม่ได้เลย เงินทั้งหมดนั้นคือค่าเทอมลูก”

 

“พ่ออยู่ในโรงพยาบาลที่ใหญ่มากๆ คนในนั้นป่วยเป็นโรคระบาด”

แม้ตลอดการพูดคุยแพรไม่ได้ร้องไห้ หรือแสดงท่าทีโศกเศร้าให้ได้เห็นเลย แต่เมื่อพูดถึงลูก แพรเสียงสั่นเล็กน้อย

“ตอนนี้บางมุมเขาเงียบขึ้น แต่เราไม่รู้ว่ามาจากเรื่องนี้หรือเปล่า หรือเขาแค่กำลังโต ลูกจะได้ไปหาบูมบ่อย ทุก ๆ ครั้งที่เขาไม่สบายและต้องหยุดเรียน เราก็จะพาเขาไปเยี่ยมที่เรือนจำ จนลูกถามว่าทำไมหนูต้องมาหาป๊า ทุกครั้งที่หนูหยุดเรียน เราเลี้ยงตัวเองได้ก็จริง แต่ตอนนี้ที่บ้านก็ช่วย เรามีภาระหลักๆ ก็คือการผ่อนบ้านรถและค่าเทอมลูก ค่าโฆษณาสินค้าที่ต้องจ่ายทุกเดือน”

“ถ้าถามว่ามีผลกระทบกับลูกไหม เรารู้สึกว่าลูกขาดคนดูแล บางทีลูกโหยหาพ่อ จะจองเยี่ยมไลน์ก็เต็ม เต็มไวมาก เปิดจอง 9 โมง 9 โมง 5 นาที เต็มแล้ว เราก็ต้องสรรหากิจกรรมให้ลูกเราทำ ให้เขาตื่นเต้น และลืม ๆ เรื่องพ่อไป อย่างวันนี้ก็บอกว่าเดี๋ยวเราไปอิเกีย ไปกินครัวซองที่หนูชอบ”

“ถ้าบูมไม่มีคดี พวกเราวางแผนจะให้ลูกเรียนนานาชาติ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ลูกเข้าอนุบาลพอดี จริง ๆ เราจองไปแล้วด้วย แต่หาเงินคนเดียวมันไม่ไหวจริงๆ หาไม่ทัน สุดท้ายก็เลยเรียนโรงเรียนอื่น ค่าเทอมก็ยังแพงอยู่ แต่ก็ยังไม่แพงเท่านานาชาติ ลูกมีน้อยใจเรื่องว่าคนอื่นมีพ่อ แล้วพ่อหนูไปไหน พ่อไม่เคยมารับที่โรงเรียน มีงานโรงเรียนที่ต้องไปดูลูก แต่เราไปคนเดียว คนอื่นเขามีพ่อแม่มาดู”

นี่ทำให้แพรต้องคอยบอกลูกว่าพ่อไม่ได้ไปไหน ไม่เหมือนกับเธอที่ไม่มีแม่อยู่แล้ว หากอยากเจอแม่ ก็เจอได้แค่ในรูป

“ดูม๊าสิ ม๊าก็ไม่มีแม่ อยู่กับอากงสองคน ยังอยู่ได้เลย ไม่มีอะไรที่มันครบหรอก เราบอกว่าแม่เราอยู่ในรูป แต่พ่อหนูเรายังไปหาได้ เวลาพาลูกไปเรือนจำ เราก็บอกลูกว่า พ่อไม่สบาย เป็นโรคระบาดหนัก ลูกคงคิดว่าที่นั่นเป็นโรงพยาบาล ที่มีคนป่วยอยู่รวมกันทั้งหมด หนูคิดจะพูดกับเขาเหมือนกัน แต่คิดว่าจะรอให้โตอีกสักพัก”

 

หวังได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา และลดโทษในชั้นอุทธรณ์

แพรบอกว่าตลอดเวลาที่บูมติดคุก เธอไปเยี่ยมที่เรือนจำเกือบทุกวัน รวมถึงซื้ออาหารส่งให้เขาด้วย แม้มีกองทุนช่วยส่งอาหารให้ แต่บูมมักอยากได้อาหารพิเศษเพิ่มจากที่บ้านด้วย

“เขากินเยอะ เราก็ซื้ออาหารให้เขาทุกวัน ตั้งแต่ติดมา แพรก็ไปเยี่ยมเกือบทุกวัน เพราะเขาขอให้ไปเยี่ยม นอกจากวันไหนไม่ได้จริงๆ ก็จะบอกเขาล่วงหน้า ถ้าไม่ใช่เรา เขาก็ให้เป็นพ่อแม่เขาเยี่ยมก็ได้ เราก็ไม่ได้เดือดร้อนมากที่จะไปเยี่ยมเขา เพราะเราทำงานที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว”

“เราบอกพ่อแม่เขาว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก เดี๋ยวเราจะคิดแทน พ่อแม่จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องขั้นตอนทางกฎหมายเท่าไร”

“เรื่องการสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ เราคุยกันว่า ยังไงสุดท้ายเขาก็ต้องโดน 6 ปี ไม่สู้ ไม่อุทธรณ์ก็คือ 6 ปี เพราะฉะนั้นรอคำพิพากษาศาลอุทธณ์ เผื่อว่าจะได้ลดโทษบ้าง เพราะเราไม่เคยมีคดีอื่นเลย ขอโอกาสเขาหน่อยแล้วกัน เผื่อเขาจะให้เรา ถ้าติดไปสักพัก อาจจะขอพักโทษได้บ้างก็ได้ อย่างมีคนที่เขาติด 6 ปี แล้วลดโทษเหลือ 4 ปี เราก็บอกว่าเขาว่า 4 ปี เราก็โอเคแล้วนะ

“เราบอกบูมว่า เวลาไม่คอยท่านะ ออกมาอาจจะไม่เจอเราแล้วก็ได้ เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง เมื่อวันจันทร์ก็เพิ่งชับรถชนไป ป้ายทะเบียนหลุดเลย หนูก็บอกว่ามันเกิดขึ้นได้ตลอด ความเป็น ความตาย แล้วหนูต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้ หนูอยากให้เขาสู้ และออกมาดูแลลูก ไม่ต้องดูแลเราเลย แต่ดูแลลูก”

ประเด็นเรื่องการผ่าตัดของแพร เป็นเรื่องหลักที่ทั้งสองคนพูดคุยกันในตอนนี้

“บอกเขาแล้วว่าตอนที่ผ่าตัด ไม่ต้องมาดูเรา ดูลูกไปเลย เอาให้เต็มที่ เพราะหนูก็ดูแลลูกเท่าที่หนูจะทำได้ เราไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบ่อย ถึงเราอยู่บ้านแดียวกัน แต่ช่วงก่อน บูมจะดูแลลูกเป็นหลัก และจริง ๆ ลูกสนิทกับพ่อมากกว่าแม่

แพรวาดฝันอย่างติดตลกว่า หากเขาได้ประกันตัว เธอจะขอไม่ทำงาน จะขอเป็นแม่บ้านบ้าง

“แต่มันก็ไม่ได้หรอก คนมันทำงานมาตลอด อาจจะพักวันสองวัน เคยฝันกับบูมไว้ว่า อยากจะเปิด racing สนามแข่งรถ แล้วก็มีเสื้อผ้าสไตล์เด็กแว๊นซ์ขายด้วย อยากจะทำเป็นห้างเล็กๆ ขายให้เด็กแว๊นซ์ เราไม่ได้โตมาแบบนั้น แต่พวกนั้นไม่ใช่คนไม่ดีเลย พวกเขาขยันมาก ต้องขวนขวายมาก ตี 4 ต้องลุกขึ้นมาเข็นผักแล้ว 10 โมงทำงาน ขายเสื้อผ้า ขายจนรวยมาแล้ว หนูก็อยากรวย อยากใช้เงินแก้ปัญหา แต่ก็ต้องใช้หนี้ก่อน”

 

ความฝันอันเรียบง่าย: อยากมีชีวิตอยู่เพื่อแนะนำการใช้ชีวิตให้ลูก และไม่เป็นภาระใคร

ความคาดหวังของแพรต่อสุขภาพของเธอ และสถานการณ์อื่นๆ ในชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปแต่อย่างใด

“หนูไม่ได้เดือดร้อนมากหรอก แต่หนูเป็นห่วงลูก” แพรย้ำประโยคนี้เสมอ เธอบอกว่าแม้ที่บ้านมีญาติผู้ใหญ่หลายคน เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ แต่หลังจากบูมติดคุกไม่มีใครซ้ำเติมหรือโจมตีเธอ มีแต่จะเป็นห่วงและทุกข์ใจเพราะสงสารหลานที่ไม่มีพ่ออยู่ด้วย เธอจึงรู้สึกโชคดีที่ไม่ต้องหนักใจเรื่องครอบครัวเพราะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุน

“ตอนแรกหมอพูดแค่เราอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี อีกไม่กี่เดือนจะครบ 2 ปี ถ้าเราผ่าน 2 ปีมาแล้ว ถึงมีความหวังว่าจะอยู่ได้อีก 5 ปี และเพิ่มเป็น 7 ปี หนูไม่หวังอะไร และคิดว่าคงอยู่ไม่ถึงช่วงที่ลูกโต แต่ก็ขอแค่ให้ลูกดูแลตัวเองได้บ้างก็ดีแล้วนะ

“อยากอยู่จนเขาโตพอจะตัดสินใจเองได้ ลูกเราเป็นผู้หญิง เราอยากจะได้เป็นคนแนะนำเขาในการใช้ชีวิต ถึงจะมีพ่อหรือปู่ย่า แต่เราที่เป็นแม่และใกล้ชิด ก็อยากเป็นคนสอน เช่น การใส่ชุดชั้นใน ใส่เสื้อทับ ใส่กางเกงขาสั้นในกระโปรง”

“หนูบอกตลอดว่า แม่ทำให้ได้ทุกอย่างที่บ้าน แต่สุดท้ายหนูต้องทำทุกอย่างได้เอง  เราอยากให้เขาใช้ชีวิตเองได้ ความหวังเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง หนูไม่ได้อยากหายนะ แค่อยากใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป หาเงินได้ พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระใคร แค่เดินได้ ยังขับรถได้ รู้ว่ามันก็ยังทรงๆ ตอนแรกยังทำใจไม่ได้หรอก แต่ถ้ายังอยู่แบบนี้ได้ ก็คิดว่าอยู่ได้นะ”

อนาคตเป็นสิ่งคาดเดาได้ยาก ทุกนาทีที่หมุนไปในชีวิตของแพรคงหนักหนาไม่ต่างจากบูมที่อยู่ในเรือนจำ สำหรับแพรแล้ว เธอยังต้องรับมือกับความกดดันทางธุรกิจ ปัญหาสุขภาพที่พร้อมจะทำให้เรี่ยวแรงของเธอถดถอยลงได้ทุกเวลา และความห่วงใยเกินจะเอ่ยต่อลูกสาวตัวน้อยที่ยังอยู่ในวัยอนุบาล

แพรทิ้งท้ายประโยคเรียบง่ายคล้ายเป็นคำถามดังๆ ว่า “ถ้าเราตายก่อนบูมได้ประกันตัว แล้วลูกจะอยู่กับใคร?”

Share This Story

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า