นักโทษทางการเมืองกับปัญหาเรื่อง ‘ระเบียบการเยี่ยมผู้ต้องขัง‘ ที่ไร้มาตรฐานของเรือนจำไทย

“ระเบียบการเยี่ยมผู้ต้องขัง” ที่ยังขาดไร้มาตรฐานของเรือนจำในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของสารพันปัญหาของเรือนจำไทยที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

แม้การติดต่อกับโลกภายนอกและการเข้าถึงทนายความของผู้ต้องขังจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานสากลเกี่ยวกับสภาพเรือนจำ ตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) และสะท้อนถึงการได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและสมศักดิ์ศรี แต่ประสบการณ์จริงที่ผู้ต้องขังหรือนักโทษทางการเมืองในเรือนจำไทยได้เจอ กลับสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็นไปมาก เมื่อมาตรฐานของ “ระเบียบการเยี่ยมผู้ต้องขัง” ที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรือนจำสร้างความสับสนให้กับบุคคลภายนอกหรือทนายความที่ต้องการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง 

 

ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 ระบุว่า บุคคลภายนอกจะเข้าเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขังจะต้องเป็นบุคคลที่มีรายชื่อใน 10 รายชื่อที่ผู้ต้องขังแจ้งความประสงค์ไว้ล่วงหน้าให้เข้าพบตนได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้ได้รับมอบหมาย 

 

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติจริงของแต่ละเรือนจำกลับมีรายละเอียดยิบย่อยที่แตกต่างกัน และมีความลักลั่นที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ต้องขังที่รอคอยการได้พบปะพูดคุยกับบุคคลภายนอกที่พวกเขาอยากเจอ

 

เยี่ยมผู้ต้องขังได้เดือนละ 1 ครั้ง

 

ดังเช่นในกรณีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำคุก 50 ปี ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงราย ซึ่งพบว่ามีรูปแบบการเยี่ยมที่กำหนดให้ญาติเข้าเยี่ยมได้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง และเยี่ยมทางออนไลน์ได้อีกเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบการเยี่ยมผู้ต้องขังที่มีความแตกต่างจากอีกหลายเรือนจำในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีทั้งกำหนดให้เยี่ยมได้ทุกวัน หรือให้เยี่ยมได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และผลัดเปลี่ยนกันไปตามแดนในแต่ละวันในรอบสัปดาห์ 

 

เงื่อนไขการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังของเรือนจำกลางเชียงรายนี้เอง ทำให้ครอบครัวหรือเพื่อนต้องรอการเยี่ยมในแต่ละครั้งค่อนข้างนาน ทั้งกรณีของพ่อแม่บัสบาสที่อายุมากแล้ว ยังไม่สะดวกในการใช้วิธีเยี่ยมทางออนไลน์อีกด้วย

 

นอกจากนั้น ในช่วงปี 2559 พบว่าเรือนจำกลางเชียงราย ไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการอ้างอิงระเบียบหรือข้อกฎหมายใดที่ชัดเจนประกอบการไม่อนุญาตให้เยี่ยมดังกล่าว และในเรือนจำอีกหลายแห่ง ก็ไม่ได้มีข้อจำกัดนี้ ทำให้ทนายความมีการอุทธรณ์คำสั่ง และต่อมาฟ้องต่อศาลปกครอง แต่คดีก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา 

 

การจองคิวเข้าเยี่ยมที่ใช้เวลานาน

 

“กัลยา” (นามสมมติ) พนักงานจากกรุงเทพฯ วัย 29 ปี ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำนราธิวาส จากการถูกฟ้องทางไกลในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งระเบียบการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำของ 1 ใน 3 จังหวัดตอนใต้สุดของประเทศไทย ก็มีความซับซ้อน ทั้งการลงทะเบียนที่มีมากขั้นตอน และการจองคิวเข้าเยี่ยมที่เรือนจำก็ต้องรอคิวเป็นเวลานาน 

 

ขณะที่การเยี่ยมออนไลน์ของเรือนจำ ซึ่งจัดให้มีการพูดคุยผ่านวิดีโอคอลด้วยแอปพลิเคชั่นไลน์นั้น ก็มีเวลาจำกัดเพียงครั้งละ 15 นาที ทำให้กัลยาและพี่ ๆ ของเธอ ซึ่งไม่ได้มีใครอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ได้มีเวลาพูดคุยกันเพียงสั้น ๆ อีกทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้เสถียรมาก จึงทำให้การเข้าเยี่ยมแบบออนไลน์เป็นไปอย่างยากลำบาก

 

สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรของเรือนจำ

 

แม้การเยี่ยมทางออนไลน์จะง่ายและสะดวกกว่าการเข้าเยี่ยมที่เรือนจำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเยี่ยมผู้ต้องขังรูปแบบนี้ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่ขัดข้องบ่อย ทั้งระบบการจองเข้าเยี่ยมที่ล่มหรือเข้าเว็บไซต์ไม่ได้ ซึ่งทำให้เวลาพูดคุยสะดุดจนเสียเวลา และเวลาพูดคุยที่ถูกจำกัดให้มีเพียงน้อยนิดอยู่แล้ว กลับลดน้อยลงไปอีก อย่างที่ “ของขวัญ” คนรักของ “อุดม” ผู้ต้องขังในคดี ม.112 ที่ถูกคุมขังอยู่ไกลถึงจังหวัดนราธิวาส ระบุว่าอินเทอร์เน็ตขัดข้องบ่อย เยี่ยมออนไลน์คุยกันได้ครั้งละ 15 นาที แต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เรือนจำมีปัญหา ทำให้หลายครั้งได้คุยกันแค่ไม่ถึง 5 นาทีด้วยซ้ำไป

 

รับบัตรคิวเพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังตั้งแต่เช้ามืด

 

การรอคิวเพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังของแต่ละเรือนจำ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของระบบการเข้าเยี่ยม สะท้อนให้เห็นได้จากกรณีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ผู้ต้องขังคดี ม.112 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่พ่อแม่ของเขาเล่าว่า กิจวัตรประจำวันที่สำคัญของพ่อกับแม่ในเวลานี้คือการเดินทางไปที่เรือนจำเพื่อหยิบ “บัตรคิว” ตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเข้าเยี่ยมลูกชายในช่วงเช้า อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งการจะเข้าเยี่ยมในช่วงเช้าหรือตั้งแต่เวลา 8 โมงเป็นต้นไป พ่อกับแม่ของเก็ทจำเป็นต้องมารับคิวที่เรือนจำตั้งแต่ช่วงตี 2 ตี 3 จากนั้นพอถึงตี 5 จึงทำการหย่อนบัตรคิวได้ 

 

“ไปถึงเรือนจำตอนตี 2 ตี 3 แล้วไม่ใช่ว่าหยิบบัตรคิวเสร็จจะนอนรอในรถสบายได้เลยนะ ได้บัตรคิวแล้วแม่ก็ต้องไปนั่งรอกับพื้น แสดงตัวเป็นคิวแรกเลย ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะโดนแซงคิว” 

 

ไม่ใช่ญาติห้ามเข้าเยี่ยม

 

ระเบียบการเยี่ยมผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เมื่อบุคคลภายนอกได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำหรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการเรือนจำแล้ว เมื่อเข้าเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง ให้เจ้าพนักงานเรือนจำจดบันทึกข้อมูลบุคคลภายนอกผู้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อไว้เป็นหลักฐาน โดยเฉพาะความสัมพันธ์เกี่ยวกับผู้ต้องขัง กิจธุระ หรือประโยชน์ในการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขัง 

 

อย่างไรก็ตาม กรณีของ “เจมส์” ณัฐกานต์ ใจอารีย์ ซึ่งถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่จังหวัดพัทลุง ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ตอกย้ำถึงปัญหาการเข้าเยี่ยม ซึ่งส่งผลถึงสิทธิของผู้ต้องขังในการต่อสู้คดีด้วย 

 

กรณีของเจมส์เขาถูกจับกุมไปดำเนินคดีที่จังหวัดพัทลุง เนื่องจากมีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปกล่าวหาไว้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่นั้น และเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งทางเรือนจำกลางพัทลุงไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ใช่ญาติ หรือต้องนามสกุลเดียวกันเท่านั้นจึงจะเข้าเยี่ยมได้ ไม่ได้มีการใช้ระบบ 10 รายชื่อที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม ทำให้ทีมงานของกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) ไม่สามารถติดต่อขอเข้าเยี่ยมได้ ซึ่งส่งผลต่อการติดตามรวบรวมข้อมูลเพื่อทำเรื่องขอประกันตัวใหม่ ขณะที่ทนายความอาสาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้ประจำอยู่ที่พัทลุง ทำให้การเดินทางไปติดต่อเยี่ยมต้องใช้เวลานาน

 

เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผู้เคยพยายามผลักดันเรื่องการแก้ไขระเบียบการเยี่ยมที่เคร่งครัดเกินไป ระบุไว้หลายปีก่อนว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำเคยระบุสาเหตุที่ต้องมีการใช้ระเบียบกำหนดรายชื่อเยี่ยม 10 คน ว่าเพื่อป้องกันคนที่แอบแฝงมาเยี่ยมเพื่อกระทำผิดกฎหมาย แต่เขาเห็นว่าสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำแล้ว โดยส่วนใหญ่ไม่ได้มีการกระทำในแบบนั้น การกำหนดระเบียบเยี่ยมที่เข้มงวดนี้ กลับยิ่งสร้างความลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีกให้กับผู้ต้องขัง กล่าวเฉพาะผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวกับการเมือง ก็ทำให้เพื่อน ๆ หรือผู้ให้กำลังใจหลายคนไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้อีก หรือบางผู้ต้องขังที่แม้ไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็มีญาติและเพื่อนที่ต้องการเยี่ยมมากกว่า 10 คน

 

เอกชัย เห็นว่าการควบคุมอย่างเข้มงวดในทุกๆ ด้านของหลายเรือนจำขณะนี้ สะท้อนไปถึงการมองนักโทษเหมือนกับเป็นคนที่ชั่วร้าย เป็นการมองอย่างตีตราและซ้ำเติม โดยการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องขัง ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุกกลายเป็นที่หรูหรา สุขสบาย เพียงแต่เขามองว่าผู้ต้องขังไม่ควรถูกจำกัดสิทธิในชีวิตทุกๆ เรื่องขนาดนี้ ทั้งที่สภาพในนั้นก็อึดอัดมากพออยู่แล้ว ระเบียบต่าง ๆ ที่เพิ่มพูนเข้ามายิ่งกลายเป็นเรื่องการจำกัดสิทธิและการเข้มงวดเกินกว่าเหตุไปอีก

 

นี่เป็นเพียงบางส่วนของปัญหาเรื่องระเบียบการเยี่ยมผู้ต้องขังที่ไม่มีมาตรฐานของเรือนจำในประเทศไทย กฎระเบียบและเงื่อนไขการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ให้อำนาจกับเรือนจำแต่ละที่เป็นผู้กำหนดเอง ส่งผลกระทบและสร้างความสับสนให้กับครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังคนนั้นๆ รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ต้องขังด้วยเช่นกัน 

 

หากกรมราชทัณฑ์ต้องการคืนความเป็นมนุษย์และยกระดับเรือนจำของไทยอย่างจริงจัง การหันกลับมาพิจารณาระเบียบที่ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันเหล่านี้ของเรือนจำทั่วทั้งประเทศ ก็อาจจะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำพาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังมากขึ้นให้เกิดขึ้นได้จริงในเรือนจำของไทย

Share This Story

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า