เรื่องเล่าประสบการณ์หลังกำแพงเรือนจำในฐานะ “นักโทษทางการเมือง” ของ ‘ธันย์ฐวุฒิ‘ หรือ “หนุ่ม เรดนนท์” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ในห้วงเวลาที่การพูดคุยเรื่องการเมืองยังไม่ผลิบานเท่าทุกวันนี้ เขาต้องเผชิญกับการพลัดพรากจากลูก แต่กำลังใจจากผู้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันก็ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชายผู้นี้เชื่อมั่นและรอคอยวันที่เขาจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับลูกของเขาอีกครั้ง
ชื่อของ “หนุ่ม เรดนนท์” อาจไม่ใช่ชื่อที่ผู้ที่ติดตามการเมืองในปัจจุบันคุ้นหูมากนัก แต่หากลองไปถาม “คนเสื้อแดง” ที่ร่วมต่อสู้มาตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 เชื่อว่าหลายคนคงยังจดจำเขาได้ ในฐานะเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เรดนนท์ดอทคอม (www.rednont.com) ที่โพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ถูกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จัดให้อยู่ใน “ผังล้มเจ้า” และเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ในห้วงเวลาที่การพูดคุยเรื่องการเมืองยังไม่ผลิบานเท่าทุกวันนี้
การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของหนุ่ม เรดนนท์ ต้องแลกด้วยการพลัดพรากจากลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเขานานกว่า 3 ปี และตลอดเวลาหลังรั้วกำแพงเรือนจำก็ผ่านไปโดยไม่มีวันไหนที่เขาไม่คิดถึงลูก แต่การช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่หยิบยื่นให้ก็เป็นกำลังใจสำคัญให้เขายังสามารถยืนหยัดสู้เพื่อรอคอยวันที่เขาจะได้กลับมาอยู่กับลูกของตัวเองอีกครั้ง
และนี่คือเรื่องราวการหยิบยื่นกำลังใจจากคนรอบข้างถึงหนุ่ม เรดนนท์ ที่เขายืนยันว่าเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ชีวิตของนักโทษทางการเมืองยังมีความหมายและไม่ถูกลืมเลือน
คุณพ่อธรรมดาที่ไม่กล้าหาญ
“ผมไม่ได้เป็นคนกล้าหาญอะไรเลย เราเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน และเราก็กลัวมากๆ กับการเอาลูกไปเจออันตรายข้างนอก แต่เราตื่นตัวทางการเมือง เรารู้สึกว่าทักษิณเป็นไอดอล พอทักษิณถูกยึดอำนาจ คนเสื้อแดงออกมาต่อสู้ เราเลยคิดว่าเราสามารถช่วยเหลือคนเสื้อแดงได้นะ และตอนนั้นยังไม่ได้มีเฟซบุ๊กเหมือนในปัจจุบัน เราซึ่งเป็นคนผลิตเว็บไซต์เลยรู้สึกว่าการผลิตเว็บไซต์ขึ้นมาสักเว็บไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ยิ่งได้ไปงานชุมนุมใหญ่ เราได้ไปสัมผัสบรรยากาศตรงนั้น ก็รู้สึกว่าต้องช่วยอะไรเขาแล้ว เลยตัดสินใจเปิดเว็บไซต์ที่ชื่อว่าเรดนนท์ดอทคอม ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในจังหวัดนนทบุรี” หนุ่ม เรดนนท์ หรือ ธันย์ฐวุฒิ เริ่มต้นเล่าย้อนกลับไป
การเปิดเว็บไซต์ดังกล่าวทำให้ธันย์ฐวุฒิถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลเว็บไซต์ ที่มีการโพสต์จาบจ้วงและอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันเบื้องสูง โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมในที่พัก ก่อนที่เขาและลูกชายจะถูกนำตัวไปอยู่ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม (ปอท.) โดยไม่ได้รับการแจ้งเรื่องสิทธิใดๆ ที่เขาควรได้รู้
“เวลานั้นยังไม่มีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่มีทนายเข้ามาช่วย ผมก็ไม่รู้เรื่องสิทธิของผู้ต้องหาเลย แล้วตำรวจก็ใช้ช่องว่างที่ผมไม่รู้ข้อมูล ไม่รู้กฎหมาย ให้ผมเซ็นเอกสารนั่นนี่โดยใช้ลูกเป็นข้ออ้าง ถึงผมจะดูเหมือนไม่ใช่คนโง่ แต่เวลานั้นคือกินอะไรไม่ได้เลย หัวใจเต้นแรง เหมือนหายใจไม่คล่อง แล้วก็มือสั่น เวลาพูดก็เสียงสั่น แม้ว่าตอนที่ถูกจับผมยังรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำเพื่อสังคม แต่หลังจากนั้นมันก็ทำให้เราได้ไตร่ตรองนะ ลูกก็ยังเล็กอยู่ แล้วเขาต้องมานอนกับผมอยู่ที่ ปอท. ผมถึงรู้สึกว่าผมทำผิดอะไรหรือเปล่า ความกล้าของผมในตอนนั้นมันผิดไหมที่ทำให้ชีวิตน้อยๆ ของลูกต้องเดือดร้อนไปด้วย”
“วันรุ่งขึ้นเรากำลังนอนอยู่ ไม่มีหมอน ไม่มีอะไรเลย ลูกก็นอนอยู่กับแขนผม แต่มีตำรวจเข้ามาโวยวายเสียงดังใส่จนลูกร้องไห้ตกใจ จากนั้นเขาก็มาพาผมไปส่งศาล แต่ก่อนจะส่งศาล เขาก็บอกให้ผมติดต่อญาติเพื่อมารับลูก ผมก็บอกว่าไม่สะดวก เพราะไม่มีญาติ เขาเลยว่าถ้าไม่ตามญาติก็จะส่งลูกเราให้ประชาสงเคราะห์ แล้วลูกคือดวงใจของผมเลย ผมเลยติดต่อไปทางเพื่อนเสื้อแดงนนทบุรี ภาพที่ผมจำได้คือลูกบ๊ายบายผม กอดผม แล้วผมก็ต้องขึ้นรถใส่กุญแจมือ และนับจากวันนั้นเป็นเวลากว่า 3 ปีเราถึงได้เจอกันอีกครั้ง เพราะผมถูกจับเข้าคุกโดยไม่เคยได้รับการประกันตัวเลยสักครั้งเดียว”
นักโทษคดีมาตรา 112 และความรุนแรงที่ต้องเผชิญ
ธันย์ฐวุฒิถูกศาลพิพากษาตัดสินให้มีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และสั่งจำคุกรวมทั้งสิ้น 13 ปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างการต่อสู้คดี ธันย์ฐวุฒิต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องทนายความที่สร้างความอึดอัดใจให้กับเขาเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับอานนท์ นำภา ที่ต่อมากลายเป็นทนายความของเขา และได้ให้ความช่วยเหลือกันและกันมาตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
“ตอนแรกที่ผมเข้าไปในคุกก็หนักหน่อย ผมต้องไปนั่งเย็บรองเท้า ต้องมียอดงานทุกวัน แล้วผมถูกส่งไปอยู่ที่แดน 8 ซึ่งเราเรียกว่าเป็นแดนของคนที่โดนคดีซ้ำซ้อน คดีร้ายแรง เพราะมันเป็นแดนที่แยกออกจากแดนอื่น แล้วก็มีกำแพงรั้วสูง พอผมถูกส่งไปที่นั่น ผมก็ถูกเก็บยอดถูกทำร้ายที่นั่น แต่ไม่เป็นไร เพราะพอเราผ่านประสบการณ์ตรงนั้นมาแล้ว เราก็พลิกมาเป็นคนที่คอยช่วยเหลือคนอื่น ช่วงเวลานั้นมีคนที่โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าคุกมาอีกเป็นร้อยคนเลย ก็เป็นผมนี่แหละที่คอยสอดส่องดูแลว่าใครถูกทำร้าย แล้วก็โชคดีที่คุณอานนท์เข้ามาในเวลานั้น พอมีเรื่องอะไรเราก็จะส่งออกไปทางคุณอานนท์ แล้วคุณอานนท์ก็เอาไปกระจายต่อ ก็เลยทำให้ช่วงนั้นไม่ขาดการสื่อสารจากคนข้างใน แล้วทำให้คนข้างในได้รับการปกป้องในระดับที่ดีพอสมควร”
ธันย์ฐวุฒิยืนยันว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการเดินเข้าเรือนจำไม่ใช่การโดนคดี หากเป็นเรื่องการถูกทำร้ายร่างกายและความรุนแรงที่ลอยคลุ้งอยู่ในอากาศ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับคนธรรมดาอย่างเขาที่ไม่เคยมีเรื่องชกต่อยกับใครมาก่อนในชีวิต และการเข้าคุกด้วยคดีมาตรา 112 ทำให้ธันย์ฐวุฒิกลายเป็นเป้าหมายของใครหลายคนในเรือนจำ และสุดท้ายเขาก็ถูกทำร้ายในนั้นจริงๆ ขณะที่ความคิดถึงลูกก็คือความเจ็บปวดแสนสาหัสของเขาระหว่างที่อยู่ในเรือนจำในฐานะนักโทษทางการเมือง
“สิ่งที่ทำให้เราเคว้งคว้างและเจ็บปวดแสนสาหัสที่สุดก็คือลูก ไม่ได้หอมผมเขา ไม่ได้กอด ไม่ได้เล่นกับเขา ไม่ได้อยู่กับเขา แล้วเวลานี้เขากำลังอยู่กับใคร ช่วงนั้นเวลาคุณอานนท์เอาจดหมายมาให้ ผมจะร้องไห้หนักมาก เวลาคิดถึงลูกก็จะเอาจดหมายมาอ่าน จนกระทั่งลูกมาเยี่ยมผมได้ ความคิดถึงก็คลายลงไปได้ การได้เจอลูกทำให้คลายความเหงาลงไปได้”
อาหาร สิ่งของ จดหมาย และกำลังใจ
สำหรับธันย์ฐวุฒิแล้ว จดหมายที่ถูกส่งเข้ามาจากคนข้างนอกถือเป็นกำลังใจสำคัญให้กับนักโทษทางการเมืองในเรือนจำ แม้จะไม่มีคนมาเยี่ยม แต่ก็มีจดหมายที่ส่งเข้ามาให้ได้อ่านคลายเหงา และเป็นเครื่องมือแทนความรู้สึกคิดถึงของคนทั้งสองฝั่งได้เป็นอย่างดี
“ข้อจำกัดของคนในคุกคือเราไม่สามารถสื่อสารอะไรกับคนข้างนอกได้ เพราะฉะนั้นมันมีอยู่แค่สองอย่างเท่านั้นคือ การมาเยี่ยมของญาติพี่น้อง กับจดหมาย แล้วจดหมายก็ไม่ใช่จดหมายที่เขียนข้อความเดียวกันแล้วส่งให้ร้อยคนนะ อย่างข้อความว่าขอให้มีความสุขนะ แล้วมันถึงเรายังไงวะ แต่ส่วนใหญ่เราจะได้จดหมายแบบนี้ คือเขาจะอวยพรคนที่เป็นไอดอล แล้วก็ส่งข้อความแบบเดียวกันนั้นมาให้เรา โดยไม่ได้ระบุชื่อเรา ซึ่งจดหมายพวกนี้ไม่มีความหมายเลย ปัจจุบันนี้เวลามีกิจกรรมส่งจดหมายให้นักโทษทางการเมือง ผมพยายามส่งให้บางคนที่ไม่รู้จักด้วย แต่ผมจะเปลี่ยนเป็นชื่อของเขานิดนึง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็จะรู้สึกซ้ำซาก เขาดูแล้วเขาจะไม่รู้สึกอะไร บางคนเรารู้ว่าเขาเคลื่อนไหวแบบนี้ เราก็เขียนลงไป ทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังพูดถึงเขาอยู่”
นอกจากจดหมายที่เป็นเครื่องมือส่งความคิดถึงและเป็นกำลังใจให้กับนักโทษทางการเมืองแล้ว การได้รับอาหารและสิ่งของที่จำเป็นก็ช่วยให้คุณภาพชีวิตของนักโทษทางการเมืองดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยธันย์ฐวุฒิเล่าว่าหลังจากเขาอยู่ในเรือนจำได้สักระยะหนึ่ง คุณพ่อของเขามักจะแวะไปเยี่ยมเยือนและมีของฝากให้เขาเสมอ และนั่นทำให้เขารู้สึกมีความสุขมาก แต่เขาสังเกตว่านักโทษทางการเมืองหลายคนไม่มีโอกาสได้สัมผัสความสุขแบบนั้นเหมือนกับเขา
“ขากลับหลังจากเยี่ยมญาติ ผมก็จะถือของกิน รู้สึกมีความสุขมากเพราะได้ของเยี่ยมญาติ แล้วก็มีเสียงว่า “พี่หนุ่มๆ ขอมาม่าสองห่อ” ซึ่งก็คือพวกเสื้อแดงที่โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้ามา บางคนยังไม่มีรองเท้าใส่เลยเพราะถูกจับแบบตะลุมบอนเข้ามา ไม่มีอะไรเข้ามาเลย ผมก็ช่วยเหลือเขา แล้วก็เล่าให้คุณอานนท์ฟัง ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าคุณอานนท์เขาทำอะไร แต่มันกลายเป็นโครงการชื่อว่าของขวัญสีแดง ซึ่งมีการระดมทุนจากประชาชนแล้วเอามาช่วยเหลือ คือในคุกเนี่ย คนที่อยากกินมาม่าจริงๆ ไม่ได้มีกันทุกคนหรอก แต่มันมีคนที่ทุกข์ยาก ไม่มีเงินเลย ซึ่งผมก็คุยกับคุณอานนท์ว่าอย่างน้อยให้เงินเดือนละสองสามร้อยบาท ซื้อมาม่าให้เขาสักลัง ให้เขาได้มีมาม่ากินกับข้าว เพราะมีข้าวหลวงอยู่แล้ว แต่ไปๆ มาๆ คุณอานนท์ก็จัดเรื่องของนมเพิ่มเข้ามาให้ ก็จะมีนมสองกล่องกับผลไม้บ้างสำหรับคนที่ไม่มีคนมาเยี่ยมหรือไม่มีคนรู้จัก”
“อีกหนึ่งกำลังใจในคุกก็คือเราอยู่แดนเดียวกัน เราเป็นนักโทษทางการเมืองเหมือนกัน เราจึงต้องเกาะกลุ่มกันไว้ ให้กำลังใจกัน มานั่งกินข้าวด้วยกัน มันจะมีอะไรที่เป็นความรู้สึกเดียวกัน คอยแชร์ประสบการณ์กัน คอยช่วยเหลือกัน มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าแต่ละวันมันโอเคขึ้น แต่ก็มีทะเลาะกันนะ เพราะเราก็เป็นคน มีทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ ก็ยังดีกว่าไม่มีกลุ่มเลย ซึ่งอันนี้แหละคืออีกสิ่งที่เป็นกำลังใจของการอยู่ในคุก”
หลังจำคุกเป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน 5 วัน ธันย์ฐวุฒิได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2556 หลังจากออกมาใช้ชีวิตนอกเรือนจำได้ไม่ถึงหนึ่งปี และได้ใช้เวลาร่วมกับลูกชายในช่วงเวลาสั้นๆ ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ขึ้น เขาถูกคณะรัฐประหารเรียกให้ไปรายงานตัวโดยไม่ระบุเหตุผล และนั่นทำให้ธันย์ฐวุฒิจึงตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ