เปิดตัว Freedom Bridge โครงการให้ความช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตและสิทธิของนักโทษทางการเมืองในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ได้มีการจัดงานเปิดตัวโครงการ Freedom Bridge ภายใต้ธีม Building the Bridge for Freedom ขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อเดินหน้าการทำงานให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่นักโทษทางการเมืองและครอบครัวของพวกเขาซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจจากการที่สมาชิกครอบครัวถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมือง โดยเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบความช่วยเหลือดังกล่าว

 

‘ปฐมพร แก้วหนู’ เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge ได้แถลงภารกิจของโครงการที่ครอบคลุมงาน 3 ด้าน ได้แก่

 

1. การให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัวของ เช่น การจัดหาอาหาร น้ำดื่มที่สะอาด ของใช้จำเป็น และเงินฝากรายเดือนให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองเพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำ และมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นให้กับครอบครัวผู้ต้องขังทางการเมือง โดยระดมทุนผ่านบัญชี “มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม”

 

2. การบันทึกข้อมูลนักโทษทางการเมืองในปัจจุบันในมิติต่างๆ เรื่องราวคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมือง และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของพวกเขาเพื่อสื่อสารไปยังสังคมวงกว้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังมีความสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของการรณรงค์ผลักดันการรับรู้และสร้างความเข้าใจในประเด็นนักโทษทางการเมืองด้วย

 

3. ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และนานาชาติ เพื่อผลักดันยุติการคุมขังทางการเมืองและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในไทย โดยปัจจุบันโครงการ Freedom Bridge ทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สำนักข่าวประชาไท Engage Thailand และ Justice in Southeast Asia Lab (JSEALab) เป็นต้น

 

(ปฐมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge)

 

ปฐมพรระบุว่า เป้าหมายสูงสุดของ Freedom Bridge คือการได้เห็นประเทศไทยไม่มีนักโทษทางการเมือง หรือนักโทษทางความคิดอีกต่อไป แต่ความเป็นจริงคือวันนี้ยังมีคนมากมายที่อยู่ในเรือนจำ และยังมีอีกหลายครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการที่สมาชิกครอบครัวอันเป็นที่รักของพวกเขาถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังมีปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของของหลักสิทธิมนุษยชน การร่วมกันดูแลคุณภาพชีวิตและสิทธิของผู้ต้องขังทางการเมือง และบรรเทาผลกระทบต่อครอบครัวของพวกเขาให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ก็เป็นหนทางหนึ่งในการร่วมกันยืนยันถึงหลักการสิทธิ เสรีภาพ และมนุษยธรรมในสังคมไทยด้วยเช่นกัน

 

โปรดอย่าคิดว่าเราเป็นเพียงประชาชน คนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจ จึงไม่สามารถทำอะไรกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ ฟรีดอมบริดจ์อยากย้ำเตือนว่า มีหนทางให้ประชาชนได้ต่อสู้เสมอหากเราพยายามมองหา การร่วมกันดูแลผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นอีกหนึ่งหนทางในการต่อสู้เพื่อรักษาหลักการทางสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม เราอยากเชิญชวนทุกท่านที่ยังมีกำลังร่วมต่อสู้ไปกับเรา ด้วยความรัก ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ที่กำลังประสบชะตากรรมที่ไม่เป็นธรรม มาช่วยกันดูแลคุณภาพชีวิต ฟื้นฟูกำลังใจ พร้อมทั้งร่วมบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัวของพวกเขา” ปฐมพร กล่าว

 

ในงานเปิดตัวโครงการยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “TIES/THAIS THAT BIND: Embracing Rights and Freedom for All  โดยมีข้อเสนอแนะ 5 ประเด็นที่สำคัญต่อการปลดล็อกสถานการณ์นักโทษทางการเมืองของไทย ได้แก่ 1.) การแทรกหลักสิทธิมนุษยชนสากลเข้ามาในระบบการใช้กฎหมายของไทย 2.) รัฐควรยับยั้งการกระทำของตนเองในการดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงออกอย่างสันติ โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3.) ควรใช้กฎหมายแพ่งมากกว่าอาญาในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและการรวมกลุ่ม 4.) เปิดพื้นที่มากขึ้นให้กับประชาสังคมในการแสดงการมีส่วนร่วมในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม และ 5.) นิรโทษกรรม ซึ่งตามหลักสากลต้องมาจากกระบวนการของรัฐสภา

 

(ปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์)

 

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาใน 2 หัวข้อ ได้แก่ วงเสวนาที่ 1 “ในเรือนจำ: คุณภาพชีวิตนักโทษทางการเมือง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ปฐมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge, แพรวพรรณ พิลาทอง ทนายความอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ปฏิมา อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง และดำเนินรายการโดย ภูริณัฐ ชัยบุญลือ เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

     

(วงเสวนา “ในเรือนจำ: คุณภาพชีวิตนักโทษทางการเมือง”  และ “นิรโทษกรรมประชาชน ยังมีความหวัง(?)”)

 

และวงเสวนาที่ 2 ในหัวข้อ “นิรโทษกรรมประชาชน ยังมีความหวัง(?)” มีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ณัฐชนน ไพโรจน์ จากเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน, ผศ.ดร. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข: ผู้ช่วยเลขานุการคนที่ 3 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม, ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และดำเนินรายการโดยอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สื่อมวลชนอิสระ

 

นอกจากนี้ยังมีการปิดท้ายงานด้วยการเชิญชวนผู้ร่วมงานเขียนโปสการ์ดส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมืองด้วย

Share This Story

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า