เหตุการณ์ที่เกือบทำให้ชีวิตของ “เฮียซ้ง” ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี อดีตนักโทษทางการเมืองต้องดับสูญไประหว่างถูกคุมขังจากการที่เขากลายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในเรือนจำ และต้องเข้ารักษาตัวในไอซียู เป็นเหมือนบาดแผลที่ยังฝังอยูในหัวใจของชายวัยเกือบ 70 ปีคนนี้
ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี หรือ “เฮียซ้ง” คือชายวัยเกือบ 70 ปี ที่ยังติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิดและมักออกมาแสดงพลังร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม เขากลายเป็นหนึ่งในจำเลยคดีล้อมรถควบคุมตัว “ไมค์ – เพนกวิน” เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2563 ก่อนที่จะเข้าไปเป็น “นักโทษทางการเมือง” ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 และต้องกลายเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ในเรือนจำจากการแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงเวลานั้น
ชีวิตที่เกือบดับสูญจากความป่วยไข้ระหว่างถูกคุมขัง คือเรื่องราวที่แสนเจ็บปวดของ “เฮียซ้ง” อีกหนึ่งอดีตนักโทษทางการเมืองของไทย และเขาอยากบอกเล่าให้ทุกคนได้รับฟัง
เดินเข้าเรือนจำในฐานะนักโทษการเมือง
หลังเหตุการณ์ล้อมรถควบคุมตัว ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เมื่อค่ำวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2563 เพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 “เฮียซ้ง” กลายเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันทุบรถผู้ต้องขัง และพยายามชิงตัว “ไมค์ – เพนกวิน” ที่อยู่ในรถผู้ต้องขัง ถึงแม้ทนายความจำเลยจะพยายามยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 คน แต่ผู้พิพากษากลับมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้จำเลยทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน
“วันแรกที่เข้าไปก็มีใจหวิวบ้าง แต่ไม่มีความรู้สึกกังวลหรือกลัว ผมพยายามดูแลและบอกน้องๆ ทุกคนว่าอย่าเครียด อย่าคิดมาก อย่าฟุ้งซ่าน แล้วก็นอนให้หลับ เพราะถ้าเรามัวแต่คิดนั่นคิดนี่ เราจะเกิดจินตนาการไปเอง แล้วเราจะฟุ้งซ่าน ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะผมเคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิตล่ะมั้ง” เฮียซ้งเริ่มต้นเล่าย้อนไป
“แต่ผมโชคดีที่ได้เจอพรรคพวกเก่าแก่ที่อยู่ในเรือนจำ พวกคนในวงการเที่ยว พอพวกเขาเจอหน้าผม เขาก็หัวเราะถากถางผมเลยนะ บอกว่าคดีอะไรผมก็ไม่เคยโดน แต่กลับมาโดนคดีขี้หมาแบบนี้ เรียกว่าเป็นการหัวเราะสนุกๆ น่ะนะ ไม่ใช่การหัวเราะเยาะอะไรหรอก พวกเขาก็แกล้งพูดว่าชีวิตผมผ่านมาอย่างโชกโชน ไม่น่าเชื่อว่าจะติดคุกด้วยคดีแบบนี้” เฮียซ้งเล่าพลางหัวเราะ
โควิด-19 เข้าเรือนจำ
แม้ในวัย 62 ปี เฮียซ้งก็ยังสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยรุนแรง ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล หรือต้องกินยาเป็นกอบเป็นกำเพื่อรักษาร่างกาย แต่การเข้าไปในเรือนจำครั้งนี้กลับกลายเป็นหายนะต่อสุขภาพของเขาอย่างร้ายแรง เมื่อเกิดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำ ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ขณะที่ในช่วงเวลานั้นก็ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรค
“ตอนคนในเรือนจำติดโควิด ผมเองก็พยายามแจ้งข่าวให้ลูกชายทราบว่าคนในคุกติดโควิดกันเยอะ ให้ทนายรีบดำเนินการหน่อย แต่เขาไม่ให้ประกันตัวอย่างเดียว จนสุดท้ายผมติดโควิด แล้วก็ป่วยหนักมาก เวลาผู้ต้องขังเจ็บป่วย สิทธิพิเศษที่เราจะได้คือการถูกจับยัดเขาไปในห้องขังซอยเดี่ยว แล้วมันร้อนมากๆ เลย ซึ่งผมก็อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเบลอ เริ่มเพ้อ พูดแล้วก็เหมือนสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่ง เรียกว่าพอเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วมันสูญเสียความเป็นคนเลย”
“ตอนผมโทรคุยกับลูกชายครั้งสุดท้าย ผมก็บอกเขาว่า ‘ป๊าไม่ไหวแล้วนะ’ ไม่ได้ประกันตัวก็ปล่อยแล้ว คือหมดหวัง หมดกำลังใจแล้ว มารู้ตอนหลังจากเพื่อนนักโทษด้วยกันว่าตอนที่ผมป่วยอยู่ พวกเขาคิดว่าผมตายไปแล้ว เพราะผมไม่รู้สึกตัว สภาพผมคือถูกปล่อยนอนให้ตายแล้ว อาการเป็นยังไงผมก็ไม่รู้สึกตัวอะไรทั้งนั้น คือผมอยู่ในภวังค์ หลับอย่างเดียว พอถึงเวลาเขาก็เอาข้าวมาวาง เสร็จแล้วเขาก็เข้ามาเก็บ แต่ถามว่าเราได้กินไหม ก็ไม่ได้กินหรอก แล้วยาที่ให้ก็มีแต่ยาพาราเซตามอน” เฮียซ้งเล่า
เมื่อถามเฮียซ้งว่ากลัวตายไหม ชายสูงวัยยิ้ม พร้อมบอกว่าตอนนั้นไม่รู้สึกตัวแล้ว ไม่มีความรู้สึกกลัวหรือความรู้สึกใดๆ อีกต่อไป “วินาทีนั้น หากเขาจะลากผมไปทิ้ง ผมก็ไม่รู้สึกตัวหรอก เพราะไม่มีแรง ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ผมได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 13 – 14 พฤษภาคม ผมก็นอนไม่รู้สึกตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จนช่วงปลายเดือนมิถุนายน ผมถึงขยับตัวได้อีกที ถึงได้ฟื้นตัวมา แต่ตอนนั้นที่ต้องนอนติดเตียง ผมก็คิดอย่างเดียวว่าไม่อยากอยู่แล้ว พอตอนนี้ผมกลับมาเดินได้แล้ว ก็รู้สึกดีใจเป็นที่สุด”
จดหมายคือกำลังใจชั้นเยี่ยม
ในช่วงที่เฮียซ้งยังไม่ติดโควิด-19 เขาเล่าว่าชีวิตใจเรือนจำของเขาไม่ได้ลำบากมากนัก ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงที่แบ่งปันมาให้เสมอ อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่วนลูปของนักโทษในเรือนจำก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของใครหลายคน ทว่ากำลังใจที่เฮียซ้งได้รับจากคนข้างนอกก็เป็นหนึ่งแรงผลักดันให้ชีวิตของเขาไม่เลวร้ายมากนักเมื่อครั้งที่ต้องสูญเสียอิสรภาพไป
“พอได้อ่านจดหมายแล้วมันก็อิ่มเอมหัวใจ รู้สึกว่าคนข้างในได้รับกำลังใจจากคนข้างนอก ได้เห็นว่าทุกคนเป็นห่วงเรา แม้จะไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เขาก็เขียนส่งเข้ามาให้เรา ซึ่งมันทำให้เราชื่นใจและดีใจมากกว่าการไม่มีเลย เพราะชีวิตข้างในนั้นมันว่างเปล่า เช้ามืดก็ต้องตื่นขึ้นมาสวดมนต์ รอเวลาให้เขาปล่อยแถวลงมาข้างล่าง ได้ออกมาสะบัดแข้งขาจากห้องนอนที่มีพื้นที่จำกัด มันเหมือนกับเราเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวเลย ถึงเวลาก็ปล่อยออกไปขี้เยี่ยวตามอิสระ พอถึงสี่โมงก็เข้าแถวขึ้นเรือนนอน ขึ้นไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็ต้องรอเวลาเขาสวดมนต์ แล้วก็นอนหลับ”
การได้รับจดหมายหรือสิ่งของจากคนข้างนอกที่ส่งเข้าไปให้นักโทษในเรือนจำ เปรียบเสมือนกำลังใจชั้นเยี่ยมที่ทำให้ชีวิตของนักโทษในเรือนจำยังสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เฮียซ้งเล่าว่าเขาเคยนักโทษมากมายที่ไม่เคยมีญาติมาเยี่ยม ไม่เคยได้รับของฝาก ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะรู้สึกเศร้าและดูหมองอย่างเห็นได้ชัด
“จดหมายกับของฝากนี่แหละที่ช่วยให้กำลังใจพวกเราได้ เพราะนักโทษเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างต้องทำตามกฎเกณฑ์ของเขา แต่มันก็มีกลุ่มที่ไม่ทำตามกฎเหมือนกันนะ แบบว่าเข้ามาแล้วไม่ถูกกล้อนผม ผมก็ถามผู้คุมเลยว่าคนพวกนั้นเป็นเทวดาเหรอ หรือเป็นพ่อของใคร ทำไมไม่ต้องตัดผม ซึ่งจริงๆ เราไม่ควรทำแบบนั้น ผู้ต้องขังควรสงบปากสงบคำ ไม่ต้องพูดอะไรเยอะ เพราะถ้าเราไม่แข็งพอ เราไปใช้คำพูดแบบนั้นกับเจ้าหน้าที่ รังแต่จะเจ็บตัว ไม่จากเจ้าหน้าที่ก็จากคนในเรือนจำด้วยกันนี่แหละ เรียกว่าสิ่งนั้นคือความลำบากของคนไม่มีเส้นสายหรือไม่มีเงินทองนั่นแหละ” เฮียซ้งชี้
ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
แม้จะกลับมาเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว แต่ชีวิตของเฮียซ้งก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แรงกำลังที่เคยมีลดน้อยถอยลงไปมาก เช่นเดียวกับเพื่อนฝูงที่เคยร่วมกันต่อสู้ก็ถูกแบ่งแยกด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันอีกครั้ง
“จากเมื่อก่อนที่ถ้าเป็นไข้หวัด ผมเข้าซาวน่าวันเดียวก็หาย แต่พอหลังจากหายจากโควิด-19 ทุกวันนี้ผมเหนื่อยง่าย แต่ก็ยังโชคดีที่รักษาหาย ไม่ตายไป เพราะถ้าตาย ป่านนี้ก็คงไม่มีคนรู้จัก ชื่อของผมก็จะเลือนหายไป”
“ผมพูดตรงๆ ว่าตอนนี้ผมเพื่อนน้อยลง เพราะเพื่อนกลุ่มหนึ่งก็ชอบเข้ามาถากถาง แต่ผมไม่ต้องการให้เพื่อนมาขัดแย้งเรื่องความคิดเห็นกัน ใครจะชอบอะไรก็เรื่องของเขา ต่างคนต่างอยู่ มึงชอบก็อยู่ของมึง กูชอบก็อยู่ของกู แต่ถามว่าที่ผ่านมา สังคมไทยก็ยังแยกเหล่า พวกมึงพวกกูกันอยู่ เป็นปลาแยกน้ำในลักษณะที่ทำให้บ้านเมืองมีปัญหาขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ” เฮียซ้งสะท้อน
แม้อายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เฮียซ้งตระหนักและยอมรับความแตกต่างทางความคิดของคนรอบตัวมากขึ้น แต่เขาก็ยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่าเขาจะไม่อดทนกับกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่เขาเกลียดมากที่สุดก็คือความไม่ถูกต้อง ซึ่งเขาก็ยังต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาที
“แม้คนที่ผมเคยคิดว่าเขาน่าจะช่วยเหลือผม เขาจะไม่มีเยื่อใยกับผมเลย ผมก็เสียใจมาก แต่พอมาย้อนคิดแล้ว เขาเองก็ยังเด็กมากอยู่ ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ผมเคยถวายชีวิตให้ เสียสละให้ เขายังไม่เคยมอบอะไรให้ผมเลย เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่าการต่อสู้แบบนี้ ถ้าผมจะยุให้คนเลิกสู้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่ถ้าจะสู้ก็ต้องหาคนที่มีจุดยืนว่าสู้จริง” เฮียซ้งกล่าวปิดท้ายอย่างหนักแน่น