การจากไปของ ‘บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม’ หรือ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ผู้ต้องหาคดี 112 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 หลังการอดอาหารและน้ำระหว่างถูกคุมขังเพื่อยืนยัน 2 ข้อเรียกร้อง คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องไม่มีใครติดคุกเพราะความเห็นต่างทางการเมืองอีก ทำให้นั่นเป็นอีกวันที่กระบวนการยุติธรรมของไทยตลอดจนสถานการณ์ผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองถูกจับจ้องจากสายตาของคนในสังคมไทย สื่อต่างชาติ ตลอดจนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก
ตัวอย่างเช่นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันนั้นระบุว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า ทางการไทยใช้วิธีการปฏิเสธเพื่อไม่ให้นักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยได้รับเสรีภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ชัดเจนว่า มีความพยายามปิดปากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบของผู้เห็นต่าง ซึ่งปัจจุบันหลายคนยังคงถูกควบคุมตัว และถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว”
โดยในแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ยังระบุว่า เหตุการณ์ที่น่าเศร้านี้ควรเป็นสัญญาณเตือนถึงทางการไทยให้ทบทวนและยุติการดำเนินคดี และปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน รวมทั้งผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ตลอดจนเรียกร้องประชาคมโลกให้เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการปราบปรามอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมการปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย
จนถึงวันนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้วนับตั้งแต่การจากไปของบุ้ง โดยการเสียชีวิตของเธอกำลังอยู่ในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อขอศาลไต่สวนการเสียชีวิต คำถามคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้สถานการณ์นักโทษทางการเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะแนวโน้มในการดำเนินคดีอาญา มาตรา 112
Freedom Bridge คุยกับ ‘คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์’ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ถึงภาพใหญ่ของสถานการณ์นักโทษการเมืองไทยในขณะนี้ ทั้งเรื่องสิทธิ์การประกันตัว แนวโน้มการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และสังคมไทยควรถอดบทเรียนร่วมกันอย่างไรต่อกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความยุติธรรม
การเสียชีวิตของคุณบุ้งทำให้มีเสียงแสดงความกังวลจากองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมีปฏิกิริยาจากต่างชาติ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา คุณสังเกตเห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในการฟ้องร้องดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นบ้างหรือไม่
จากการดูข้อมูลที่เข้ามาจากการรายงานของศูนย์ทนาย พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังเห็นว่ามันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในคดี 112 ยังมีการออกหมายเรียกหมายจับในคดีที่เกี่ยวกับความผิดมาตรา 112 กับพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีไปรับทราบข้อกล่าวหาอยู่
ส่วนที่คดีที่เป็นคดีค้างเก่า เช่นคดีที่อาจมีการไปปราศรัยหรือว่าแสดงความเห็นที่อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิด 112 ตั้งแต่ปี 2563 อะไรแบบนี้ หรือว่าคดีที่อาจมีประชาชนที่เป็นกลุ่มปกป้องสถาบันไปแจ้งความดำเนินคดีตามสถานีตำรวจต่างๆ ที่ถือว่าเป็นคดีค้างเก่าตำรวจก็ยังออกหมายเรียกให้ตัวผู้ต้องหาไปรับทราบข้อกล่าวหาอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงถ้าคดียังอยู่ในชั้นอัยการก็ยังมีคำสั่งฟ้องอยู่ ซึ่งถ้านับตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา คดีที่เข้ามายังศูนย์ทนายก็จะเป็นคดีความผิดตามมาตรา 112 และคดีพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เฉลี่ยเดือนละ 4 คดีค่ะ
ในส่วนของผลคำพิพากษา ถ้าเราดูในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นเดือนที่คุณบุ้งเสียชีวิตในเดือนนั้นมีการอ่านคำพิพากษาคดี 112 มากที่สุดเลยนะคะ ประมาณ 10 คดี ซึ่งก็มีผลของคดีที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างคดีที่จะไฮไลท์ก็คือคดีอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่เป็นคดีของคุณแม่ลูกอ่อน คุณธนพร ศาลก็มีคำพิพากษาลงโทษไม่รอลงอาญาโดยต้องถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
แล้วก็ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เช่นกรณีของส.ส. ลูกเกด ชลธิชา และก็กรณีคุณแอมมี่กับคุณปูน อันนี้ก็เป็นคดี 112 เหมือนกัน ศาลก็ตัดสินลงโทษไม่รอลงอาญาเหมือนกันแม้ได้รับการประกันตัว
อย่างนี้ประเด็นสิทธิการประกันตัวยังเป็นปัญหาอยู่มากน้อยแค่ไหน มีมาตรฐานเดียวกันไหมในการให้ประกันตัวในกรณีต่างๆ
คือถ้าเป็นฐานความผิดคดี 112 การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ถ้าฟ้องอาจจะยังได้รับการประกันตัวอยู่ถ้าก่อนหน้านี้ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ถ้าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยในคดี 112 จะใช้สิทธิ์ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา อันนี้ก็จะเริ่มมีปัญหาในการไม่ได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา
อย่างที่ทราบกันดีว่าในส่วนของผู้ต้องขังที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขัง ณ ปัจจุบัน ถ้าตัวเลขคลาดเคลื่อนต้องขออภัย ก็คือ 44 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังในคดีที่ยังต่อสู้คดีถึง 24 คน ที่สู้คดีแล้วไม่ได้ประกัน และในจำนวน 24 คนนั้นเป็น 17 คนที่ถูกดำเนินคดี 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัว
อยากให้ช่วยย้ำถึงเรื่อง ‘สิทธิ์การประกันตัว’ อีกครั้งว่าบุคคลควรได้รับสิทธิ์นี้อย่างไร
คือสิทธิ์การประกันตัวมันเป็นสิทธิพื้นฐานสำคัญในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลที่อยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งกฎหมายบ้านเราที่สูงที่สุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลควรต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นเป็นคนที่กระทำความผิด ซึ่งตามหลักการนี้ถ้าเราได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีอะไรแบบนี้ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานตามกฎหมาย
รวมถึงก็มีการกำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยว่า ถ้าไม่มีเหตุที่จะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีนะคะ หรือว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือว่าจะทำให้กระบวนการพิจารณาของศาลเสียไป ถ้าไม่มีเหตุเหล่านี้บุคคลคนนั้นก็ควรจะต้องได้รับการประกันตัว ซึ่งผู้ต้องขังในคดีการเมืองหลายๆ ท่านก็คือในศาลชั้นต้นก็ได้รับการประกันตัว และก็ไม่เคยมีเหตุที่ตามกฎหมายจะไม่ได้รับการประกันตัวอย่างที่กล่าวมา แต่พอมาในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา กลับไม่ได้รับการประกันตัว โดยที่ถ้าจะไปตรวจสอบดูคำสั่งของการไม่ได้รับการประกันตัว หลายๆ ครั้งก็มีคำสั่งในทำนองที่ว่าไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากคดีมีโทษจำคุก หรือว่าคดีมีอัตราโทษสูง เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ไม่ให้ประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนีอะไรแบบนี้ค่ะ ซึ่งทั้งๆ ที่ผ่านมาในคดีของศาลชั้นต้นได้รับการประกันตัวมาตลอดและไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนี ที่ผ่านมาก็มีข้อเรียกร้องจากตัวผู้ต้องขังเอง หรือแม้แต่นักวิชาการเองว่าเราต้องคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนที่เขาต่อสู้คดีอยู่
เราควรทำความเข้าใจกับคำว่า “ผู้ต้องขังทางการเมือง” และ “คดีทางการเมือง” อย่างไร
โดยส่วนตัวก็เคยถูกตั้งคำถามบ่อยๆ เวลาที่ต้องออกไปพูดอะไรแบบนี้ หรือไปปฏิบัติหน้าที่ทนาย บางทีมานอกรอบก็ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเรียกคดีเหล่านี้ว่าเป็นคดีทางการเมือง ทั้งๆ ที่มันก็คือคดีอาญานั่นแหละ คนที่ทำความผิดทางกฎหมายก็ต้องได้รับโทษในทางคดีอาญาอะไรแบบนี้ เราก็ได้…ถ้าได้รับฟังกันแบบผู้เจริญแล้วหรือพร้อมที่จะรับฟังก็คุยกันว่าโดยส่วนตัวหรือว่าแนวคิดที่เกี่ยวกับมุมมองคดีการเมือง
“ที่เราควรแยกบุคคลเหล่านี้ออกเพราะว่าเราต้องยอมรับก่อนว่าสังคมเรามีความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เกือบๆ 20 ปีแล้ว ต้องยอมรับว่ามันมีเรื่องเหล่านี้อยู่ เรื่องทางการเมืองเนี่ยมันอาจจะเป็นการรวบคำง่ายๆ เพื่อนิยามให้คนใช้มันง่ายๆ หน่อย แต่จริงๆ แล้วคดีการเมืองก็คือเรื่องของคดีทางความคิด ประชาชนมีความคิดต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือว่าการแสดงความเห็น หรือว่าแสดงออกอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อเรียกร้องในสิทธิ์ของเขา ซึ่งรวมถึงสิทธิทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการไปเรียกร้องกฎหมาย เขาอาจจะไปเรียกร้องกฎหมาย ไปชุมนุมแล้วก็ถูกดำเนินคดีชุมนุม หรือถูกดำเนินคดีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือว่าเขาอาจจะไปชุมนุมเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย 112 เขาก็ถูกดำเนินคดีอะไรแบบนี้ หรือว่าไปปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ที่หมิ่นเหม่แล้วถูกดำเนินคดี 112 เหล่านี้ เขาเรียกว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มความผิดที่เกี่ยวกับการที่เขาใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญ”
แต่มันก็มีอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการแสดงออกแบบนี้เป็นความผิด ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งที่มองว่าการแสดงออกแบบนี้เป็นความผิดก็มักจะเป็นฝ่ายที่อยู่ในขั้วตรงข้าม เช่นอาจเป็นฝ่ายที่สนับสนุนคสช. หรือกลุ่มที่มีอำนาจอะไรแบบนี้ก็มาแจ้งความดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่เราต้องถกกันก่อนว่าเขาก็มีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดงความคิดเห็นนะ เพราะว่ารัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิ์เขาอะไรแบบนี้ค่ะ
มันจึงต้องแยกออกจากคดีอาญาปกติที่เราจะเรียกกันว่าคดีอาญาโดยแท้ พวกคดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า พวกนี้เป็นคดีที่กระทำต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น ซึ่งไม่ต้องรู้กฎหมายหรอกแค่เป็นประชาชนที่เข้าใจศีลธรรม หรือกฎหมายเบื้องต้นก็เข้าใจได้ว่าการกระทำแบบลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือฆ่า หรือข่มขืนแบบนี้มันเป็นความผิดอยู่แล้ว แต่การไปพูด ไปแสดงความเห็นแล้วไปหมิ่นประมาทอย่างนี้ มันยังเป็นเรื่องที่ต้องไปดูก่อนว่าเขาผิดกฎหมายอะไร หรือว่ามันยังอยู่ในแดนของเสรีภาพ หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริตหรือเปล่า พวกนี้เขาเรียกคดีเกี่ยวกับความคิด ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งที่เขาใช้กันว่ามันเป็นคดีทางการเมืองนั่นแหละ คือสังคมต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนมันถึงจะขยับไปข้างหน้าได้ว่า เฮ้ย มันต้องมาทบทวนกันไหมในการที่จะดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้
หลังกรณีการเสียชีวิตของคุณบุ้งสิ่งที่กลายเป็นประเด็นถูกพูดถึงขึ้นมาคือเรื่องการเข้าถึงการรักษาของผู้ต้องขัง คำถามคือคล้ายๆ กันว่าหลังผ่านมา 3 เดือน จากข้อมูลการเยี่ยมผู้ต้องขังของศูนย์ทนายฯ พบว่าการเข้าถึงการรักษาเป็นปัญหาอยู่ไหม หรือมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรไปบ้างไหม
คือถ้าจากการติตตามบันทึกเยี่ยมและการพูดคุยกับผู้ต้องขังบางส่วนที่เวลาไปศาลแล้วเขาออกศาล โดยส่วนตัวแล้วเราได้เจอ ยังมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการรักษาที่การเข้าถึงการรักษาที่มันอาจจะล่าช้า มันไม่ทันที เนื่องจากมันก็มีกระบวนการของการเข้ารักษาภายในของราชทัณฑ์ เช่นเนื่องจากมีแพทย์ที่มาอยู่ก็จริง แต่แพทย์ไม่ได้เข้ามาที่เรือนจำทุกวันที่จะสแตนบายในการรักษาถ้ามีเหตุในวันนั้นๆ แต่แพทย์เข้ามาบางวัน พอเข้ามาบางวันแบบนี้กระบวนการจัดการในนั้น จากที่ผู้ต้องขังที่เคยอยู่เล่าให้ฟังก็คือถ้าป่วยก็คือต้องไปลงชื่อเข้าคิวเพื่อที่จะได้พบแพทย์ในอีก 1-2 วันถัดไป ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของการไม่ได้รับการรักษาทันที อย่างที่บอกว่าบางเคสป่วยจนหายเอง กับบางทีถ้าป่วยแต่ก็ต้องทน ในระหว่างนั้นก็กินยาพารารอไปก่อนอะไรแบบนี้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าโรคที่เป็นคือเป็นอะไร เพราะว่าต้องรอที่จะได้พบแพทย์ ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการรักษาทันทีหรืออาจจะล่าช้า
และก็มีความกังวลค่ะเกี่ยวกับเรื่องว่าถ้าหากเจ็บป่วยที่ฉุกเฉินและการเจ็บป่วยที่รุนแรง ตัวผู้ต้องขังเขาก็กังวลว่า เอ๊ะ แล้วเขาจะได้รับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นหรือว่าการกู้ชีพเบื้องต้นโดยแพทย์หรือพยาบาลวิชาชีพที่มีความถนัดทางนั้นในการจะรักษาเขาฉุกเฉินไหม หรือว่ากู้ชีพเขาฉุกเฉินไหม หรือว่าถ้ามันเกินขีดความสามารถของทัณฑสถาน ใครจะเป็นคนวินิจฉัยหรือเคาะเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถที่จะรองรับโรคที่เป็นฉุกเฉินได้ เขาก็มีความกังวลจากบทเรียนของคุณบุ้ง
อันนี้ไม่นับรวมถึงปัญหาคลาสสิกที่มันมีมาแต่ดั้งแต่เดิม เช่นความแออัดของสถานพยาบาล เพราะว่า 1 โรงพยาบาลต่อผู้ต้องขังทั้งหมดมันเยอะ ในห้องพักของโรงพยาบาลก็มีความแออัด หรือว่าความล่าช้าของการที่จะได้รับเอกสารที่เกี่ยวกับการแพทย์ เช่นใบรับรองแพทย์ที่อาจจำเป็นต้องเอาไปใช้ประกอบในการยื่นขอประกันตัว หรือว่าการขอประกันตัวเพื่อไปรักษาเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ อย่างนี้ก็อาจจะล่าช้าไป
หากลิสต์ว่าอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในประเด็นสิทธิผู้ต้องขังทางการเมือง เราควรเรียงลำดับประเด็นนี้อย่างไร
“ประเด็นแรกเลยคือต้องคืนสิทธิ์ประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีเขายังไม่ถึงที่สุด ซึ่งอันนี้มันตอบตัวผู้ต้องขังเขาไม่ได้เลยว่า อ้าว เขายังสู้คดีอยู่แล้วทำไมเขาไม่ได้ประกัน รวมถึงตอบโจทย์นานาประเทศที่เขาตั้งคำถามไม่ได้เลยว่า สิทธิอันนี้มันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของคุณรวมถึงกติการะหว่างประเทศต่างๆ ที่คุณไปรับรองมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอย่างนี้ ทำไมถึงไม่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองด้วย”
เพราะเราก็พบว่าในบางคดีเนอะที่เป็นคดีอาญาฐานความผิดทั่วไปที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกายอะไรแบบนี้เช่นคดีฆ่าก็ยังได้รับการประกันตัว ซึ่งมันถูกต้องแล้วที่เขาควรได้รับสิทธิในการประกันตัว เว้นแต่ว่าเขาข่มขู่พยาน ข่มขู่ผู้เสียหาย ไปพยายามบิดเบือนหรือยุ่งเหยิงกับหลักฐาน อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่มีพฤติการณ์แบบนั้นเขาก็ควรได้รับการประกัน เช่นกันผู้ต้องขังคดีการเมืองถ้าไม่มีพฤติการณ์ต้องห้ามตามกฎหมายกำหนดก็ต้องได้รับสิทธิประกันตัว อันนี้เป็นอันดับแรกที่คิดว่าอยากจะยกขึ้นมาว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
“สิ่งที่สำคัญรองลงมาก็คือแล้วถ้าเมื่อไม่ได้รับการประกันตัว แล้วตัวเขาต้องอยู่ในนั้น ถ้าเราคุยกันถึงเรื่องอยู่ในนั้นอยู่อย่างไรให้ผู้ต้องขังเขาได้รับการปฏิบัติเหมือนมนุษย์ทั่วไปคนหนึ่งที่ควรจะได้รับสิทธิ์ก็คือ สิทธิ์ในเรื่องของการมีมาตรฐานในการรักษาพยาบาลของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิ์พื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 55 ว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง”
คำสองคำนี้คือมีประสิทธิภาพและทั่วถึง หมายถึงว่าแม้คุณตกเป็นผู้ต้องขังที่อาจจะมีโทษคดีอาญา คุณก็ควรได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงก็คือรวมถึงพวกเขาด้วย ไม่ใช่แบบมีโทษใช่ไหม พวกนี้ไม่ต้องรับสิทธิ์เหมือนคนอื่นหรอกอะไรแบบนี้ มีเท่าไหร่ก็ตามมีตามเกิดมันไม่ใช่ เพราะอันนี้รัฐธรรมนูญก็บอกไว้ด้วยว่ามันไม่ควรเลือกปฏิบัติไม่ว่าเขาจะมีสถานะทางสังคม ณ ขณะนั้นอย่างไร หรือว่ามีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไร ก็คือห้ามเลือกปฏิบัติ เขาก็ต้องได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเหมือนพวกเราที่ไม่ได้ถูกคดี
ตอนนี้มีความพยายามผลักดันจากภาคประชาสังคมเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง อยากให้อธิบายให้เข้าใจว่าการนิรโทษกรรมสำคัญอย่างไร
“มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขความขัดแย้งที่มีอยู่ระหว่าง 2 ฝ่ายนั่นแหละ ถ้าหากนิรโทษกรรมและก็ยุติคดีมันก็จะคลี่คลายหรือว่าเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ความขัดแย้งที่ผ่านมามันได้บรรเทา คลายกันไป เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้จากความขัดแย้งนี้แบบก้าวไปด้วยกันนะ เพราะว่าที่ผ่านมาคือเราต้องไม่ลืมว่ามันมีการนิรโทษกรรมผู้มีอำนาจด้วยนะคะ ที่เราทราบดีว่าทางคสช.ก็นิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไว้ด้วย ต้องถามว่าสังคมตั้งคำถามกับการนิรโทษกรรมของบุคลกลุ่มนี้ด้วยบ้างไหมว่าทำไมเขาถึงนิรโทษกรรมได้”
ทั้งๆ ที่ในทางวิชาการเนี่ย การเข้ามาของคสช. ก็คือการเข้ามาโดยการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องปกป้องรักษาไว้เพื่อไม่ให้มีใครมาทำลายหรือล้มล้าง แต่ในส่วนนั้นยังมีการนิรโทษกรรมผู้มีอำนาจรัฐได้เลย แล้วเหตุใดประชาชนจะมีการนิรโทษกรรมประชาชนด้วยไม่ได้ ซึ่งอยู่บนฐานเดียวกันก็คือเพื่อให้ยุติความขัดแย้ง แล้วไปต่อข้างหน้ากันได้ ไม่ใช่ไปต่อได้ฝ่ายเดียว แต่ประชาชนต้องเข้าสู่กระบวนการทุกสิ่งอย่างอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
จนถึงตอนนี้ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนต่อการผลักดันการนิรโทษกรรมอย่างไรบ้าง
เสียงสะท้อนจากฝั่งประชาชนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมคิดว่าให้ความสำคัญและก็เหมือนเป็นความสำคัญอับดับแรกเลยในการที่จะต้องทำเรื่องนี้ คือเห็นหลายๆ องค์กรเลยว่าอันนี้เป็นเรื่องแรกที่ทุกองค์กรร่วมมือร่วมใจกันทำ ก็ร่วมคิดร่วมทำให้มันเกิดขึ้น
ในการผลักดันเรื่องนี้ศูนย์ทนายความฯ ก็ไม่ได้ทำโดยลำพัง ก็ทำร่วมกับองค์กรเครือข่ายประมาณ 23-24 องค์กรมาร่วมกันทำและก็ร่วมขับเคลื่อนในภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนในเครือข่าย จนเป็นที่มาของการยกร่างที่มาจากการรับฟังเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบในคดีทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่ปี 2549, 2553, 2557 อะไรแบบนี้ ร่างพ.ร.บ. ของประชาชนมาจากเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ จนกว่าจะมาเป็นร่าง
พอหลังจากเป็นร่างพ.ร.บ. เสร็จแล้วก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อ ไม่ได้อยู่ดีๆ เราอยากทำก็ทำ อุ๊ย ทำให้คดีมันเสร็จไป แต่มันมาจากการเรียกร้องของคนที่ถูกคดีทางการเมืองด้วย เรามีจัดงานใหญ่ที่เชิญผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาถ่ายภาพร่วมกันเพื่อแสดงให้ประชาชนและสังคมเห็นว่าคนที่ขอนิรโทษกรรมเนี่ยไม่ใช่ใครคนใดที่ไม่มีตัวตนนะ เป็นคนๆ หนึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีตัวตนจริงๆ ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ มีคนในครอบครัวที่ยากลำบากจากการถูกคดีการเมืองจริงๆ ออกมาให้สังคมเห็น
ในส่วนของการผลักดัน ณ ตอนนี้ก็คือเท่าที่ทราบในทางคณะทำงานก็คือไปหมด กรรมาธิการ ส.ส. กรรมาธิการพิจารณาร่าง ก็คือไปยื่นหนังสือติดตามทวงถามอยู่ตลอด แล้วก็คิดว่าในเฟสถัดไปก็จะทำงานกับสังคมเพิ่มขึ้นนะคะ โดยเฉพาะภาคการศึกษา เข้าไปในสถาบันการศึกษา
“เพราะเราคิดว่าการผลักดันให้วาระเรื่องของการนิรโทษกรรมเป็นวาระของสังคมหรือเป็นเสียงของสังคม และการพูดของคนในสังคมว่าเห็นพ้องต้องกันด้วยกัน มันจะเป็นส่วนที่ผลักดันให้ภาคการเมืองที่ยังนิ่งอยู่ทำอะไรเพิ่มมากขึ้นค่ะ”
ในฐานะประชาชนคนหนึ่งทำอะไรได้บ้างในการช่วยผลักดันประเด็นการนิรโทษกรรม
ก็คือรับฟังนะคะ แล้วก็รับข้อมูลทั้ง 2 ด้าน เพื่อให้เห็นถึงตัวร่างกฎหมาย เนื้อหาของร่างกฎหมายก่อน เพราะว่าถ้าพอพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว หลายๆ ครั้งประชาชนก็จะย้อนไปนึกถึงในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหารปี 2557 นึกย้อนไปในช่วงเวลานั้นว่ามันจะนำไปสู่ความวุ่นวายหรือเปล่า กฎหมายนี้เคยเสนอเข้ามาแล้วและนำไปสู่วิกฤตทางการเมือง มีการรัฐประหารและต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ก็คืออยากให้ได้รับฟังข้อเท็จจริงและมาลองอ่านทำความเข้าใจกันก่อนว่าร่างฉบับนี้มันมีที่มาที่ไป และมีเหตุผลอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไรที่คิดว่าประชาชนและสังคมรับได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่มีความเห็นในเชิงปกป้องสถาบันหรือว่ามีความเห็นในเชิงที่อาจจะให้มีการแก้ไขกฎหมายที่อาจจะไม่เป็นประชาธิปไตยไม่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ได้ทบทวนอะไรแบบนี้ค่ะ
ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หลังจาก 3 เดือนการเสียชีวิตของบุ้ง คิดว่าอะไรที่สังคมไทยควรมองเป็นบทเรียนร่วมกันได้บ้าง
“เรียนรู้ถึงเรื่องคุณค่าของชีวิตของมนุษย์ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่นอกเรือนจำหรือว่าเป็นผู้ต้องขัง และไม่ว่าเขาจะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหรือไม่อย่างไรในคดีอาญา ในความเป็นมนุษย์เขาควรได้รับสิทธิ์ของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเราทั้งหมด เช่นสิทธิ์การประกันตัวหรือสิทธิ์ในการรักษา”
หรือแม้กระทั่งการช่วยชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานตามที่เราคาดหวัง เช่นอย่างเรามีคนในครอบครัวที่เป็นที่รัก มีพ่อแม่มีลูก หรือว่ามีญาติๆ ที่อาจจะเจ็บป่วย เราก็คาดหวังว่าญาติพี่น้องของเราจะได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เช่นกันผู้ต้องขังในคดีอาญาโดยเฉพาะคดีทางการเมืองที่ไม่ได้ประกันตัว เหมือนกันเขาก็คล้ายๆ แบบนั้น เขาก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน
สุดท้ายในฐานะทนายและคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิ์การประตัวและนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง จนถึงตอนนี้คุณยังมองเห็นความหวังอยู่หรือไม่ เมื่อมองจากที่คุยกันมาแล้วพบว่าแม้ผ่านกรณีการเสียชีวิตของคุณบุ้งมาแล้ว แต่ประเด็นสิทธิ์ประกันตัวก็ยังไม่ก้าวหน้า การดำเนินคดี 112 ก็ยังเกิดขึ้นอยู่
ในส่วนตัวแล้วก็คือเราทำงานกับคนที่เรียกว่าเป็นคนทุกข์ คนที่ถูกดำเนินคดีอาญาและเขาต้องเสียอิสรภาพเนอะ ซึ่งไม่ใช่อิสรภาพของตัวเขานะ เขาบอกว่าคนที่ถูกจำคุกหนึ่งคนก็เท่ากับว่าครอบครัวเขาติดคุกไปด้วย เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ของทนายความหรือเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ ทุกคนทำงานกับคนที่มีความทุกข์ เราก็ต้องบาลานซ์เหมือนกัน เพราะเราก็ทุกข์ไปเขา
แต่ในส่วนหนึ่งเราก็มีความหวัง หวังว่าในฐานะที่เราเป็นนักกฎหมาย เป็นทนายความวิชาชีพ เราจะใช้ความรู้ทางกฎหมายอย่างไรช่วยเขาในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งประกัน มีกฎหมายอะไรใหม่ๆ หรือว่ามีหลักการระหว่างประเทศ หรือว่ามีความเห็นจากเพื่อนมิตรองค์กรต่างประเทศอะไรที่จะมาสนับสนุนการทำงานของเราได้ เราก็พยายามทำ แล้วก็สร้างโอกาสเพื่อให้เกิดความหวังมากขึ้น เพื่อที่จะกระตุกคนในกระบวนการยุติธรรมอ่ะ เพื่อนร่วมวิชาชีพไม่ว่าจะในบทบาทอัยการหรือศาลว่าคุณก็ต้องกลับมาอยู่ในหลักกฎหมายอ่ะ เพราะประเทศเราต้องกลับคืนสู่หลักนิติรัฐนิติธรรม อยู่กันบนกฎหมาย กฎหมายให้สิทธิ์ไว้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม จะตีความอะไรที่ไม่คุ้มครองสิทธิ์ตามกฎหมายไม่ได้ อันนี้เป็นความหวังค่ะ
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘บุ้ง เนติพร’: ไฟแห่งความหวังที่ดับแสงบนสมรภูมิการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน https://freedombridge.network/%e0%b8%babung-netiporn-a-beacon-of-hope-extinguished-on-the-battlefield-for-human-rights/