แม่คนหนึ่งจะทุ่มเทให้ลูกได้แค่ไหน เรื่องราว ‘เพชรลดา’ ในฐานะแม่ของนักโทษทางการเมืองอาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ให้คำตอบได้ชัดเจน
ราวตี 3 ครึ่งของทุกวันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดทำการ ‘เพชรลดา’ จะมานั่งรอที่หน้าป้อมยามเพื่อหวังว่าตัวเองจะได้หยิบบัตรคิวเป็นคนแรกๆ เพื่อเข้าไปเยี่ยมลูกชายที่อยู่ข้างในนั้น ภาพของเธอนั่งบนทางเท้าหน้าประตูเรือนจำตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางเพื่อรอหยิบบัตรคิว คงจะกลายเป็นภาพคุ้นตาของเจ้าหน้าที่และผู้คนที่ต้องมาทำธุระยังสถานที่แห่งนี้อยู่ประจำ เพราะเธอมารอเยี่ยมตั้งแต่เช้ามืดแบบนี้ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์
“ไปหาเก็ท ผ่านกำแพง” คือคำตอบเรียบง่ายของเพชรลดา เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงต้องไปที่นั่นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางทุกวัน เธอบอกว่าไม่เคยรู้สึกเหนื่อยเลยเพราะเธอรู้ว่าทุกครั้งที่แม่ไปเยี่ยม แม้จะเป็นเวลาแค่ไม่กี่นาทีแต่นั่นเท่ากับการเติมกำลังใจให้ลูกว่าแม่ยังคงอยู่เคียงข้างไม่ไปไหน
“ทุกครั้งที่แม่ไปยืน แม่จะใจฟูมากตรงศาลพระภูมิ มีผู้คุมเดินเข้าไปในเรือนจำ เขาก็จะ เฮ้ยเก็ท แม่นายมานะ แม่คุณอ่ะ มาทุกวันเลย เราเห็นแม่คุณที่โกลเด้น เพลส เราเห็นแม่คุณจอดรถที่ศาลเจตคุปต์ เก็ทมันก็จะใจฟู เฮ้ย แม่เรามาทุกวันแหละ เราเห็นแม่เธอพาหมามาเต็มรถกระบะเลย มาวิ่งอยู่หน้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ คือมันเหมือนกับการสื่อสารโดยทางอ้อม เราไม่จำเป็นต้องเป็นโดมิเมล ต้องเขียนหนังสือเพราะแม่ทำไม่เป็น แม่ก็จะพาหมาพาแมวเข็นไปให้เจ้าหน้าที่เห็น แล้วเขาจะไปแซวข้างใน แล้วเป็นรู้กันว่าแม่มา เก็ทมันก็จะรู้ว่าแม่มา”
ชื่อของ ‘เก็ท’ หรือ ‘โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง’ ลูกชายของเพชรลดา น่าจะเป็นอีกชื่อที่ผู้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่คุ้นเคยดี เขาคือนักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และถูกคุมขังนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2566 หลังจากศาลมีคำพิพากษาจำคุกรวม 6 ปี 6 เดือน ในคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี ได้แก่ กรณีปราศรัยในแฟลชม็อบ “ทัวร์มูล่าผัว” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือนจากคดีมาตรา 112 และการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ และกรณีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ถูกศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี
เก็ทถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 4 คดีด้วยกัน ซึ่งอีก 2 คดีได้แก่ คดีปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากลปี 2565 และการอ่านแถลงการณ์ในระหว่างการชุมนุม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” ที่บริเวณแยกอโศกในระหว่างการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
การที่ลูกชายถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และถูกตัดสินจำคุกจากการแสดงออกทางการเมือง คือคลื่นลูกใหญ่ที่กระทบต่อชีวิตและจิตใจของคนในครอบครัว แต่สิ่งที่เพชรลดาในฐานะ ‘แม่’ พยายามบอกกับคนในบ้านก็คือ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” เพื่อรักษาความหวังและกำลังใจ รอวันที่ลูกชายจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง
‘เก็ท–โสภณ’ ในความทรงจำของแม่
รูปถ่ายของเก็ทยังถูกตั้งเอาไว้เต็มบ้านเพื่อคลายความคิดถึงของคนในครอบครัว เช่นเดียวกับสุนัข แมวและปลาที่แม่ยังคงดูแลให้อยู่เสมอ
เพชรลดาบอกว่า เก็ทเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า เก็ท น้อง และสัตว์เลี้ยง เก็ทสนิทกับพ่อและแม่มาก พ่อแม่ลูกนอนในห้องเดียวกันตลอด คุยกันได้ทุกเรื่อง ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเก็ทและแม่แทบจะตัวติดกันเป็นเงาไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด กิจกรรมที่ครอบครัวชอบทำร่วมกันคือการขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดโดยพาสุนัขและแมวที่เลี้ยงไว้ไปด้วย
สำหรับแม่เพชรลดาแล้วเก็ทคือลูกชายที่ใจเย็นและใจดี เธอจำได้ว่าเงินเดือนเดือนแรกที่เขาได้รับจากการฝึกงานเพื่อเรียนจบเป็นบัณฑิตจากภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เขาใช้มันไปกับการซื้อของขวัญให้แม่
“คือเราไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องเรียนจบมา มาทำงานแล้วมาเลี้ยงเรา คือแม่จะพูดกับเก็ททุกครั้งว่า เธอเลี้ยงตัวเธอเองได้ก็พอ เพราะเราตกลงกันว่าเราจะไม่เอาตังค์ลูก แล้วทุกครั้งเก็ทก็จะบอกว่าเรารู้หรอกคุณแม่ไม่อยากได้ตังค์จากเราอ่ะ แต่เขาจะเป็นคนใจดี เขาจะซื้อให้เอง”
“งานชิ้นแรกที่เขาไปฝึก เขาไม่ใช้ตังค์เลย พาแม่ไปที่เซ็นทรัลเวิลด์ แม่ถามว่าเก็ทมาทำไม พาแม่มาทำไม พามาซื้อลิปสติก เงินเดือนแรก”
เพชรลดาบอกว่า ตั้งแต่เด็กเก็ทเป็นเด็กเรียนดี ได้เกรด 4 เกือบทุกวิชา เขาชอบการ์ตูนยอดนักสืบจิ๋วโคนัน แม้ไม่ได้สนใจการเมืองตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก แต่เพชรลดาบอกว่าเก็ทให้ความสนใจเรื่องความเท่าเทียม เมื่อแม่ขับรถไปรับกลับบ้านสมัยยังเรียนชั้นประถม เรื่องที่เก็ทมักเล่าให้แม่ฟังเสมอคือเรื่องเพื่อน พร้อมกับคำถามเช่น “ทำไมคนนี้จน คนนี้รวย” หรือ “ทำไมคนนี้มีคุณพ่อคุณแม่มาส่ง คนนั้นไม่มี” ซึ่งแม่เพชรลดามองว่าการสังเกตชีวิตของเพื่อนรอบตัวในโรงเรียนทำให้การตั้งคำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมในสังคมค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาในใจของเขาทีละนิดตั้งแต่เด็ก
จนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการในสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย ความสนใจในการเมืองของเก็ทจึงชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
“เข้าไปในสภา เป็นกรรมาธิการในสภาฝ่ายนักศึกษา แล้วชอบเลย ไปเห็นคุณโรมพูดบนเวที แล้วสู้ เหมือนออกมาสู้ เลยทำให้ถ้ารุ่นอย่างเขา เป็นเด็กรุ่นใหม่แล้วพูดเรื่องความจริง มันก็น่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมองคิดแบบเขาเกิดขึ้นเป็นรุ่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ เขาก็เลยเริ่มสนใจการเมือง”
รายงานของเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ด้วยความหวังและความเชื่อมั่นว่าสังคมไทยจะดีกว่านี้ได้ เก็ทตัดสินใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การ์ดวีโว่’ หรือ We Volunteer ในปี 2563 ที่การประท้วงใหญ่ของคนรุ่นใหม่ได้เริ่มขยายตัว และเข้าร่วมกับกลุ่มแพทย์พยาบาลอาสา DNA เพื่อสนับสนุนด้านการแพทย์ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย
เก็ทและเพื่อนจำนวนหนึ่งยังได้ตัดสินใจก่อตั้งกลุ่ม ‘โมกหลวงริมน้ำ’ ขึ้น ในวันที่ 12 สิงหาคม 2563 เพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนิสิตและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยนวมินทราทิราช ก่อนจะขยายไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่กว้างขวางขึ้นในสังคม โดยเก็ทและกลุ่มโมกหลวงริมน้ำยังมีบทบาทในการจัดกิจกรรมรำลึกวาระครบรอบ 1 ปี การสูญหายของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 และได้เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นให้เร่งติดตามการหายตัวไปของวันเฉลิมอย่างจริงจัง
“เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”
การที่ลูกชายถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และต้องเดินเข้าสู่เรือนจำเป็นเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่ซัดกระทบชีวิตและจิตใจของคนในครอบครัว แม้จะได้รับกำลังใจจากญาติพี่น้องระหว่างเส้นทางการต่อสู้คดีแต่เพชรลดายอมรับว่านี่ทำให้คุณพ่อของเก็ทเครียดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งคำพูดที่เธอมักจะใช้ปลอบพ่อของเก็ทและครอบครัวก็คือให้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องกลัว เพราะถึงวันหนึ่งเรื่องราวที่เผชิญอยู่ก็จะผ่านพ้นไป
“แม่ก็จะปลอบพ่อว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เธอดูอย่างฉันสิ ฉันยังไม่เห็นสนใจเลย ไม่ต้องกลัว เราอยู่บนโลกแห่งความจริงอ่ะมันจะดีที่สุด ใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราไปเรือนจำเหมือนเราไปเดินบิ๊กซี เพราะแม่ไปทุกวันไง”
เพชรลดาบอกว่าเธอไปเยี่ยมลูกทุกวันที่เรือนจำเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมเพื่อให้เขารู้สึกมีกำลังใจ แต่ขณะเดียวกัน การที่พบว่าลูกยังมีกำลังใจแข็งแกร่งก็เป็นพลังให้เธอรักษาแรงใจของตัวเองไว้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี สิ่งเดียวที่เธอขอลูกชายคืออย่าสู้ด้วยการอดอาหาร อดนอนอีก
“เขาบอกเขาสู้แม่ก็ต้องสู้ไปกับเขา มันก็มีพลัง แต่แม่ก็บอกว่าเธอสู้ ฉันสู้ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามอดข้าว ห้ามอดน้ำ อดนอน เพราะว่าเวลาเกิดเรื่องขึ้นมาตัวเราเป็นคนป่วย ไม่ใช่คนรอบข้าง มันทำให้คนจิตตกอ่ะ คนข้างนอกมันจะอยู่ไม่ได้เพราะเธอประกาศอดข้าวอดน้ำอดนอน”
“ไม่อยากให้เขาทำแล้ว เพราะเคยทำแล้วมันป่วยไง สงสารลูก เวลาเขาป่วยขึ้นมา ปากแข็งตัวแข็ง เราเคยเห็นแล้วไง เราก็เลยสงสาร ก็จะบอกเขาทุกครั้งที่ไป บอกว่าปู่ย่ารอนะ คุณปู่อายุจะร้อยปีแล้ว ย่าเราจะร้อยปีแล้ว ต้องรอเขา นี่สุสานมิ้วหมาที่ตาย ต้องทำไว้ในบ้าน ทุกคนรออยู่ เพราะฉะนั้นต้องออกมาแบบสมประกอบอ่ะ”
ทั้งนี้ เก็ทเคยประกาศอดอาหาเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ระหว่างถูกคุมขังครั้งแรก และได้ประกาศอดนอนเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 หลังเขาต้องถูกคุมขังเป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากจากถูกเพิกถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวจากการเข้าร่วมกิจกรรมประท้วงระหว่างการประชุม APEC 2022 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยการประกาศอดอาหารและอดนอนของเขาในครั้งนั้นมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของตะวันและแบม และเรียกร้องให้ศาลสร้างหลักประกันเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผู้ต้องขังในคดีการเมืองคนใดถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมอีกในอนาคต
‘นิรโทษกรรม’ ความหวังสูงสุดของแม่
เมื่อถามถึงความหวังสูงสุดของเธอในฐานะแม่ เพชรลดาตอบทันทีว่าคือ การนิรโทษกรรม
“นิรโทษกรรม เพราะว่าหวังที่สุดคือนิรโทษกรรม คือให้คดีเขาจบที่รุ่นเขาเลย ไม่มีคดีติดค้าง คือเขาจะได้ไม่ต้องมีคดีติดตัวแล้ว จะได้ไปทำมาหากินอะไรก็คือทำไป”
“เพราะว่าแม่คุยกับลูกทุกครั้ง ถ้าเกิดว่าออกจากคุกคราวนี้ไป หรือว่าถ้าจะต้องติดคดีติดตัวไป ขอเป็นแค่ว่าไปรายงานตัวที่ศาลนู่นนั่นนี่ไหม แล้วก็ไปตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินเพราะคุณก็ต้องมีภาระ มีครอบครัว อาจจะต้องแต่งงาน มีลูกมีอะไร มันก็ต้องพาสชั้น พ่อแม่ก็แก่แล้ว อนาคตของเขา”
ทั้งนี้ มีความพยายามผลักดันจากภาคประชาชนอย่างเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เข้าสภาซึ่งในเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวครอบคลุมคดี 6 ประเภท ได้แก่ คดีตามประกาศและคำสั่งคสช. คดีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร คดีตามฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดี พ.ร.บ. ประชามติ และคดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อดังกล่าวเหล่านี้ โดยเริ่มนับเวลานิรโทษกรรมตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ด้วยเป้าหมายให้การนิรโทษกรรมปลดล็อกความขัดแย้งในสังคมไทยที่ดำเนินมายาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ
แม้เพชรลดามองว่าการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้คงไม่ง่าย แต่เธอก็หวังว่าการผ่านร่างกฎหมายนี้จะประสบความสำเร็จในที่สุด
“แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้พวกผู้มีอำนาจทั้งหลาย ให้นิรโทษกรรมให้กิจกรรมพวกนี้พาสชั้นไป ให้ผ่านไป อนาคตของเด็ก”
“แล้วซึ่งเปรียบเทียบกับคนที่ฆ่าคนตายได้ประกัน คนโกงคนได้ประกัน ตัวอย่างมีเยอะแยะเลยเพราะเราไปขึ้นศาลเห็น คดียาเสพติดอย่างนี้ได้ประกัน แต่คดีทางความคิด นักโทษทางความคิดล่ะ”
กำลังใจจากเพื่อนร่วมสังคมมีคุณค่าต่อครอบครัวนักโทษการเมือง
นอกจากการดูแลให้กำลังใจกันเองในครอบครัวแล้ว คุณแม่ของเก็ท โสภณ บอกว่าเธอซาบซึ้งกับกำลังใจที่ได้รับจากคนภายนอก
ทุกครั้งที่เธอไปร่วมยืนหยุดขังและมีแม่ๆ และมวลชนมาร่วมกิจกรรมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและสิทธิประกันตัวให้นักโทษทางการเมือง เธอจะแบ่งเงินค่ากาแฟที่ปกติเธอซื้อกาดื่มวันละ 3 แก้ว มาเป็นค่าหมูค่าไก่ ซื้อวัตถุดิบทำอาหารไปแบ่งกับคนที่ร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจที่พวกเขาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้ลูกของเธอซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญคดีการเมือง แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นท่อน้ำเลี้ยงแจกเงินให้คนมาร่วมกิจกรรม
“เขาเอ็นดูลูกเรา เราก็เอาข้าวไปทำเผื่อ แต่ไม่ได้เป็นท่อน้ำเลี้ยงว่าฉันแจกตังค์เธอ ไม่มีขนาดนั้น
“มันเป็นกำลังใจดีมากเลย ที่เขายังไม่ลืมลูกเรา เพราะทุกคนก็บอกเก็ทสู้นะ”
“กำลังใจเป็นเรื่องใหญ่ ความสู้ ถึก อดทนด้วย” เพชรลดากล่าวทิ้งท้ายเมื่อจบบทสนทนา ตอกย้ำถึงพลังใจอันแข็งแกร่งของแม่คนนี้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั้งยากและบั่นทอน เพื่อรอคอยให้ลูกชายได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าและใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง