“แซม สาแมท” นักกิจกรรมและอดีตนักโทษทางการเมืองที่ต้องก้าวเท้าเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เพียงเพราะออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพที่ทุกคนควรได้รับ บอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอหลังกำแพงเรือนจำ พร้อมความฝันที่แสนธรรมดาแต่ยังเกิดขึ้นจริงไม่ได้
“แซม สาแมท” หรือ “อาร์ท” อาจไม่ใช่ชื่อที่หลายคนคุ้นเคยในฐานะนักกิจกรรมทางการเมือง แต่เขาคือนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกหนึ่งคนที่ต้องเดินเข้าเรือนจำพร้อมกับผู้ชุมนุมทางการเมืองอีกหลายคน หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นชายที่ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา ในปี พ.ศ.2563 และถูกแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, มาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย
แซมได้รับการอนุญาตประกันตัวหลังถูกคุมขังนานกว่า 103 วัน และหลังจากนั้นเขาก็เทียวเข้าเทียวออกเรือนจำอีกหลายครั้ง แต่นั่นไม่เคยทำให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของแซมที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเปลี่ยนไปเลยสักนิด แม้ระหว่างการต่อสู้ แซมต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากแค่ไหน แต่กำลังใจจากทุกคนที่ส่งไปให้เขาทั้งในช่วงที่ถูกคุมขังหรือถูกปล่อยตัวแล้ว ก็เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงให้แซมขับเคลื่อนไปข้างหน้า และต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
ประตูเหล็ก กรงขัง และความเป็นมนุษย์ที่สูญเสียไป
“ตอนไปถึงก็มีแต่ลูกกรงเหล็ก ประตูเหล็กสูงๆ มีลวดหนามมิดชิด ไม่มีต้นไม้สีเขียว แต่ทุกอย่างเป็นปูนกับลูกกรงเหล็กเก่าๆ สนิมเขรอะ แต่ตอนนั้นเราคิดได้ว่าถึงแม้เราจะไม่ชอบสิ่งนั้น เราก็ต้องยอมรับมัน แล้วก็ต้องเข้าใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอะไรกับที่นี่ เราต้องอยู่ให้ได้ เราพยายามกินยาแก้แพ้เพื่อให้ตัวเองนอนหลับ เพราะเรารู้สึกว่าการนอนหลับจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในนั้น”
หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมในที่พัก พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา โดยไร้เงาทนายความหรือการบอกกล่าวสิทธิของผู้ต้องหาให้ได้รับรู้ แซมถูกควบคุมตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ด้วยความรู้สึกว้าเหว่ หวาดกลัว และมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของตัวเองเลย
“พอถูกนำตัวไปที่เรือนจำ มันรู้สึกว้าเหว่มาก ว้าเหว่สุดๆ เลย แต่สิ่งที่พีคมากคือ เขาบังคับให้เราแก้ผ้า เพื่อตรวจดูว่าเราเอาอะไรเข้ามาหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่เราในฐานะ LGBTQ+ ไม่ชอบมากๆ แล้วเราต้องแก้ผ้าให้คนเกือบ 30 คนในห้องนั้นดู จากนั้นเราก็ต้องเข้าไปในเรือนจำ และต้องใช้ชีวิตแบบที่ความเป็นคนของเราลดลงเป็นศูนย์เลย เราต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน คือมันไม่ใช่ห้องน้ำด้วยซ้ำ แต่เป็นบล็อกที่ก่อขึ้นมา เวลาทำธุระส่วนตัวก็ต้องนั่งมองหน้ากัน คนในห้องก็ต้องนั่งดู ยิ่งในสถานการณ์โควิดยิ่งแย่ คนต้องนั่งรวมกันในห้องแคบๆ อากาศก็ร้อนมาก แต่มีพัดลมแค่สองตัว ซึ่งเราไม่ชอบเลย มันบั่นทอนความเป็นคนของเรามากๆ”
ไม่ใช่แค่สภาพแวดล้อมที่ทำให้แซมรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังกับชีวิต ผู้คนรอบข้างในเรือนจำก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บั่นทอนหัวใจของนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศคนนี้มากเหลือเกิน คำพูดถากถางและเหยียดหยามการกระทำเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของแซมวนเวียนผ่านมาเข้าหูของเขาทุกวี่วัน การตราหน้าว่าทำเพื่อเงินสร้างความขุ่นเคืองใจให้เขาเป็นอย่างมากจนถึงกับต้องโต้กลับ แต่นั่นก็ไม่ได้แซมรู้สึกดีขึ้นเท่าไรนัก
“มันมีคำพูดของผู้คุมที่บั่นทอนจิตใจของเรา พวกเขาจะพูดว่าอย่าไปทำอะไรแบบนี้อีกนะ แล้วก็มีคำที่คนในเรือนจำพูดกันว่าสุดท้ายแล้วทุกคนก็ไม่ได้สนใจพวกเราหรอก อย่าไปทำแบบนั้นอีก ซึ่งพอมันผ่านมาให้เราได้ยินทุกวัน เราก็รู้สึกดิ่งลงไปมากกว่าเดิม จากศูนย์กลายเป็นติดลบ เหมือนกับว่าเราพร้อมตายได้แล้ว”
“สิ่งที่เราทำลงไป ก็เพื่อศักดิ์ศรีของตัวเอง เราอยากพูดในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดได้มาตั้งแต่เด็ก เสรีภาพของการเดินอยู่ข้างนอกโดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าตำรวจจะมาจับเราไหม หรือเดินเข้ามาถามว่าเราเป็นต่างด้าวหรือเปล่า เราไม่อยากโดนปฏิบัติแบบนั้น เราอยากใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ที่ไม่ต้องหวาดกลัว เราอยากเข้าถึงการรักษาพยาบาล ได้มีความรู้ มีการศึกษา หรือได้ทำอะไรเหมือนกับคนปกติ”
คุณภาพชีวิตที่เลวร้ายในเรือนจำ
แซมเล่าว่าครั้งแรกที่เข้าเรือนจำ แต่ละวันของเขาผ่านไปอย่างยากลำบาก การถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำเป็นสิ่งเลวร้ายที่เขาลุกขึ้นสู้ แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะเงียบไว้
“เราต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพราะเขาบังคับให้สวดมนต์ แม้ในนั้นจะมีคนจากหลายศาสนา แต่ทุกคนจะถูกบังคับว่าต้องตื่นตีห้ามาสวดมนต์ เขาไม่ถามเลยว่าแต่ละคนนับถือศาสนาอะไร หรือถ้าถามมันก็แค่นั้น การปฏิบัติมันแตกต่างกันมาก เราถูกบังคับให้ทำเหมือนกันหมด เรียกว่าแทบไม่มีเสรีภาพเลย แล้วไหนจะที่เราถูกบังคับให้ยืนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเราไม่อยากทำ แต่เราก็ต้องทำ แล้วเราก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก เพราะผู้คุมชอบพูดจาหยาบคาย ตะคอกใส่ ทำให้เรารู้สึกแย่ หรืออาจจะเพราะเขาเป็นผู้ชายด้วย ก็เลยต้องใช้คำพูดรุนแรงเพื่อคุมนักโทษให้อยู่ แต่เราไม่เคยเจอแบบนี้ มันก็กระทบจิตใจเรามากเหมือนกัน”
แต่ประสบการณ์เลวร้ายที่สุดในเรือนจำของแซม คงเป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เขาบอกว่าการเห็นคนนอนตายกลายเป็นเรื่องปกติของผู้ต้องขัง ขณะที่แซมเองก็ “เกือบตาย” จากการติดโควิดในเรือนจำเช่นเดียวกัน
“เราถูกย้ายไปอยู่แดน 8 ในตึก 4 ชั้นที่มีหน้าห้องเล็กๆ อยู่ในห้อง แต่ห้องหนึ่งมีนักโทษอยู่ในนั้นมากถึง 43 คน มันจึงแออัดมาก พอเราขึ้นไปบนห้อง ก็อากาศร้อนอบอ้าว มีกลิ่นเหม็น เราหายใจไม่ออก ต้องใส่แมสสามสี่ชั้น แล้วตอนนั้นแมสก็ขาดแคลนมาก ทางเรือนจำก็ไม่แจกแมส มีแต่ทางศูนย์ทนายฯ ที่ส่งไปให้เรา ทำให้เราพอมีเหลืออยู่บ้าง เราติดโควิดจนไอเป็นเลือด แต่เขาก็ทำเฉยอยู่หลายวัน ไม่มีพยาบาลหรือหมอเข้ามาดูอาการ เขาปล่อยเราเอาไว้แบบนั้น จนออกซิเจนในเลือดของเราลดลงเนอะ หายใจไม่ออกแล้ว ไม่สามารถขยับตัวได้แล้ว เขาถึงหามเราออกมาข้างนอกเพื่อรอรถมารับ พอไปถึงโรงพยาบาลก็ไม่ได้รับการรักษาอะไรมาก ได้ยาฟาวิพิราเวียร์กับยาพาราเซตามอนที่คุณภาพดีกว่าในเรือนจำเล็กน้อย แต่มันก็ทำให้เราอาการดีขึ้น เราได้อาบน้ำสะอาด ไม่มีกลิ่นคลอง ก็เลยทำให้เรารู้สึกดีขึ้น หายใจสะดวกมากขึ้น”
อยากยอมแพ้แต่หัวใจไม่ยอม
ความเลวร้ายในเรือนจำที่ถาโถมเข้าใส่แซมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เขาเคยอยากยอมแพ้และกลับไปก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมของตัวเองอยู่ในมุมเล็กๆ ของสังคม ไม่ต้องเดินบนเส้นทางการต่อสู้ที่อาจจะต้องแลกกับอิสรภาพของตัวเองอีกต่อไป แต่ความฝันของแซมมันยิ่งใหญ่กว่าความยากลำบากที่เขาพบพาน เขาจึงกัดฟันต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป
“เราเคยสัญญากับตัวเองว่าถ้าออกจากเรือนจำ เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอีกแล้ว เราเหนื่อยมากๆ มันบั่นทอนหัวใจ เรากินมาม่าจนผิวเหลืองไปหมด ไหนจะเรื่องความเป็นอยู่ น้ำ กลิ่นเหม็น ฝุ่นเยอะ คนเยอะเกินไป ไอใส่ตัวเอง ไอใส่คนอื่น กินข้าวอยู่ก็ไอใส่ กินข้าวกับพื้นที่เราเหยียบไปมา มันทำให้เรารู้สึกท้อ ไม่อยากใช้ชีวิตแบบนี้อีกแล้ว แต่ความฝันของเรายิ่งใหญ่กว่านั้น เราเลยบอกตัวเองว่าทนหน่อย เดี๋ยวก็ได้ออกไปแล้ว”
นอกจากความมุ่งมั่นที่จะเดินต่อไปบนเส้นทางสายนักกิจกรรม การได้พบเจอกับนักกิจกรรมทางการเมืองคนอื่นๆ ในเรือนจำ ก็เป็นเชื้อเพลิงสำคัญให้หัวใจที่กำลังเหี่ยวเฉาของแซม ค่อยๆ กระชุ่มกระชวยและพร้อมสู้ต่อแม้จะถูกรายล้อมด้วยกำแพงสูง แซมเล่าว่าวันหนึ่งขณะนั่งอยู่ในห้องขัง เขาเห็นอานนท์ (อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน) และแกนนำคนอื่นๆ เดินผ่านห้องขังของเขา เขาจึงตัดสินใจเรียกพวกเขา และนั่นคือช่วงเวลาที่เปลี่ยนชีวิตของแซมอีกครั้ง
“เรารู้จักพวกเขา แต่เราไม่กล้าทัก เพราะเราคิดว่าเขาเป็นคนดัง แต่วันนั้นแกนนำสิบกว่าคนเดินผ่านหน้าห้องเราไป เราเลยตัดสินใจเรียก แล้วคนที่วิ่งกลับมาหาเราคือทนายอานนท์ เขามาถามว่าเราโดนคดีอะไร เหตุการณ์ไหน พอเราบอกว่าเราฉี่ใส่ตำรวจ เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวเขาจะติดต่อทนายให้ สักพักเขาก็เอาอาหารมาให้ ซื้อของมาให้ ซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีช่วงเวลาแบบนั้นอยู่ เพราะมันทำให้เราไม้ได้รู้สึกโดดเดี่ยวในเรือนจำอีกต่อไป เราไม่ได้ตัวคนเดียวแล้วนะ แล้วผ่านไปไม่นานก็มีทนายเข้ามาหาเรา เข้ามาถามไถ่และฝากเงินให้เรา”
การได้ทำความรู้จักกับผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่นๆ ในเรือนจำ โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำการชุมนุม ทำให้แซมได้รับการปฏิบัติที่ดีมากขึ้นจากผู้คุม ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเริ่มดีขึ้น ขณะเดียวกันกำลังใจจากคนนอกเรือนจำก็ถูกทยอยส่งเข้าไปให้แซม และกลายเป็นแหล่งพลังใจสำคัญให้ชีวิตของคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดี เพียงเพราะออกไปใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของตัวเอง
“หลังจากเราลงถูกแยกจำแนกแดน หลังจากโดนกักโรค 14 วัน ก็มีจดหมายเข้า เราก็แอบหวังว่าจะมีจดหมายมาถึงเราบ้าง แบบว่าจะมีคนรู้จักเราบ้างไหมนะ แล้วเราก็ได้รับจดหมายสองฉบับ ซึ่งเราดีใจมากที่คนไม่ลืมเรา แม้เราจะอ่านหนังสือไม่เก่ง แต่เราก็เอามาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันทำให้เรารู้สึกว่าเรายังมีเพื่อนข้างนอก แม้จดหมายจะมาถึงมือเราช้ามาก แต่มันเป็นกำลังใจให้เราได้เยอะมาก มันทำให้หัวใจของเราดีขึ้น ใจฟูมาก เวลาอ่านทุกครั้ง เราก็จะร้องไห้ทุกครั้ง มันทำให้เราคิดได้ว่าอย่างน้อยเราก็ไม่ได้สู้คนเดียว”
ชีวิตหลังคืนวันอันโหดร้ายในรั้วลวดหนาม
แซมเล่าว่า หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ เขาลืมเลือนการใช้ชีวิตธรรมดาที่เขาคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นลืมวิธีการใช้บริการรถไฟฟ้า หรือลืมรหัสผ่านของตัวเอง ทุกอย่างเหมือนเริ่มต้นใหม่ ทำให้แซมรู้สึกหวาดกลัวกับความเป็นจริงหลังรั้วกำแพงสูงของเรือนจำ เสียงดังรอบตัวทำให้แซมรู้สึกแปลกแยกจากสังคมที่เขาเคยอยู่ ทำให้เขาไม่กล้าออกไปนอกบ้าน และตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขากันแน่
“ตอนอยู่ในเรือนจำ เราเครียดจนผมร่วงเยอะมาก ผิวคล้ำไปหมด หน้าดำเหมือนคนไม่ได้รับสารอาหาร เพื่อนๆ รอบข้างเราก็รู้สึกเป็นห่วง ไม่อยากให้เราไปม็อบอีก เขามาขอร้อง ขอให้เราเลิก เขาบอกเราว่าคนอื่นมีคนคอยช่วยเหลือซัพพอร์ตนะ แต่เราไม่มีใครเลย ซึ่งเราคิดว่าเราโชคดีที่ยังมีศูนย์ทนายฯ ที่ช่วยเหลือและดูแลเรา มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าอย่างน้อยเรายังมีคนซัพพอร์ตการต่อสู้ของเรา และช่วยบรรเทาทุกข์ของเราได้มาก พอเรามานั่งทบทวนสิ่งที่ทำลงไปว่ามันถูกต้องหรือเปล่า เราก็รู้สึกว่ามันถูกต้องแล้ว และยังไงเราก็จะทำอีก เราก็ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็โดนหมายจับก่อนเพื่อนเลยทุกครั้ง เราเข้าเรือนจำหลายรอบ แต่เราไม่กลัวอะไรแล้ว”
เพราะใฝ่ฝันว่าจะได้รับการศึกษาและเป็นเจ้าของบัตรประชาชนที่มีเลข 13 หลักปรากฏอยู่ จึงทำให้แซมไม่เคยยอมแพ้หรือหยุดเดินบนเส้นทางการต่อสู้ที่ไม่มีวันชนะได้ง่ายๆ เขาบอกว่าแม้เลข 13 หลักจะไม่ใช่สิ่งสำคัญของใครหลายคน แต่สำหรับเขามันคือการปลดล็อกชีวิตในทุกด้าน และเขาก็อยากได้สิ่งนั้นมากเหลือเกิน
“หลายคนอาจจะมองว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หรอก สุดท้ายทุกคนจะติดคุกกันหมด แต่สิ่งที่พวกเราทำได้เปลี่ยนแปลงสังคมไปมากแล้ว ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไปมาก เมื่อสามสี่ปีก่อนยังไม่เปลี่ยนขนาดนี้เลย สังคมของเราต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าบางสิ่งถูกปลูกฝังมานาน ดังนั้นก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป เรากำลังทำสงคราม แต่ในฐานะประชาชนที่ไร้อาวุธในมือ และเราอาจจะต้องสูญเสียบางคนไปในระหว่างการต่อสู้ อย่างที่เราสูญเสียบุ้งไป และอาจจะมีคนถอย หรือมีคนย้ายฝั่ง มันก็เป็นเรื่องปกติของการทำสงครามนั่นแหละ”
เมื่อถามว่าหากวันนี้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างที่แซมต้องการแล้ว แซมจะกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน แซมยิ้มหวานพร้อมบอกว่าตัวเขาอาจจะกำลังแคมป์ปิ้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ไหนสักแห่ง อาจจะกำลังนั่งดื่มกินและพูดคุยอย่างสนุกสนานกับเพื่อนที่เขารัก หรืออาจจะเดินไปซื้อน้ำหอม
“แต่ตอนนี้เรายังทำแบบนั้นไม่ได้ ถึงแม้เราจะออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเรือนจำแล้ว แต่เรายังคิดถึงใบหน้าของเพื่อนๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำ มันทำให้เรารู้สึกว่าเรายังมีความสุขไม่ได้ อย่างสงกรานต์ที่ผ่านมา เราก็คิดว่าเขาจะเล่นน้ำยังไงนะ เราเคยอยู่ในเหตุการณ์แบบนั้น ข้างนอกเขาจุดพลุกันเสียงดังสนุกสนานมากๆ แค่คนข้างในทำได้แค่เกราะลูกกรงมองแสงไปวิบวับข้างนอก เราทำได้แค่นั้น” แซมพูดปิดท้ายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ก่อนก้มหน้าเช็ดน้ำตาออกจากแก้มของตัวเอง
—————————————————————————————————————————————————-