ชื่อ: อุดม (สงวนนามสกุล) (37 ปี)
อาชีพ: พนักงานโรงงาน
คดี : หมิ่นประมาทกษัตริย์ (ม.112) – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวมจำนวน 7 ข้อความ
วันที่ถูกจำคุก : 30 ส.ค. 2566 / 30 Aug. 2023
สถานที่คุมขัง : เรือนจำจังหวัดนราธิวาส
“อุดม” หนุ่มโรงงานวัย 34 ปี ชาวสระแก้ว จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเติบโตมาในครอบครัวชาวไร่ชาวนา ประกอบกับทำงานรับจ้างทั่วไปนอกฤดูทำนา
อุดมเล่าว่าเขาออกจากบ้านเกิดตั้งแต่อายุ 18 ปี เพื่อไปหางานทำ โดยในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านสู่วัยรุ่นนั้น เขาใช้ชีวิตแบบร่อนเร่พเนจรไปเรื่อยๆ มีงานที่ไหน ก็ย้ายไปอยู่ที่นั่น ไม่ได้ปักหลักอยู่กับที่นานนัก โดยมากจะเป็นงานในโรงงานเป็นส่วนใหญ่
อุดมมีครอบครัวประกอบด้วยภรรยาและลูกสาว วัย 7 ขวบ 1 คน อุดมไม่ใช่คนที่สนใจหรือมีชีวิตเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” มาก่อน เขาบอกว่าก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไป ที่ถูกปลูกฝังมุมมองเกี่ยวกับการปกครองต่างๆ มาจากรัฐ ในช่วงที่เขาเป็นทหารเกณฑ์ เขายังเคยถูกส่งไปเตรียมร่วมสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงปี 2552 ด้วยซ้ำ ดีว่าไม่ได้ถูกสั่งให้ยิงประชาชนในคราวนั้น
จนกระทั่ง หลังการรัฐประหาร 2557 ด้วยความสงสัยในสาเหตุของการรัฐประหาร และสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ประกอบกับโลกของข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อุดมเริ่มเข้าไปดูช่องยูทูปที่วิเคราะห์การเมืองในช่องต่างๆ ด้วยความอยากศึกษาเรียนรู้
แม้เริ่มตื่นตัวทางการเมือง แต่อุดมไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองครั้งใดมาก่อน ไม่ว่าในฝ่ายเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือการชุมนุมล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี2563-2565 ที่ผ่านมา และไม่เคยคิดจะไปร่วมสังกัดกลุ่มการเมืองกลุ่มไหน เขาเพียงติดตามข่าวสารในโลกออนไลน์ตามที่มีเวลาว่าง
อุดมใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ตั้งด้วยชื่อจริงนามสกุลจริง แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยมีเพื่อนหลัก 200-300 คนเท่านั้น และไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งจะถูกดำเนินคดีตามมา
อุดมถูกแจ้งความคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีระยะทางห่างไกลจากบ้านของเขากว่าพันกิโล หลังถูกดำเนินคดี อุดมประสบปัญหาในการเดินทางมาโดยตลอดทั้งในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และชั้นศาล เนื่องจากถูกแจ้งความดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกลทำให้เขาต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับการถูกดำเนินคดีแม้ว่าเขาจะเลือกเดินทางโดยรถไฟชั้นสามเนื่องจากมีราคาถูก แต่อุดมต้องลางาน ขาดรายได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อหาที่พัก อุดมคิดอยู่เสมอว่าทุกครั้งที่เดินทางมาจังหวัดนราธิวาสเขาอาจไม่ได้กลับบ้าน
26 ก.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้พิพากษาว่าอุดมมีความผิดใน 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ให้ยกฟ้องในข้อความอีก 4 กระทง ซึ่งตีความว่ากล่าวถึงอดีตพระมหากษัตริย์ หรือตีความไม่ได้ว่าหมายถึงบุคคลใด
ศาลให้ประกันตัวอุดมในชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันจำนวน 30,000 บาท และกำหนดให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่ ทุกวันที่ 1 ของเดือน
แต่แล้วในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญาและไม่อนุญาตให้อุดมประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกา นั่นทำให้อุดมต้องถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา