ชื่อ: ถิรนัย (สงวนนามสกุล) (23 ปี)
อาชีพ: ขายของออนไลน์- ไรเดอร์
คดี : ครอบครองระเบิด
วันที่ถูกจำคุก : 15 ก.พ. 2566
สถานที่คุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ธี ถิรนัย ธีอาศัยอยู่ที่บ้านของครอบครัวย่านพระราม 2 กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวพูดถึงเขาว่า ธีเป็นเด็กที่หัวดี เรียนเก่ง มีผลการเรียนอยู่ในระดับดีมาตลอด
ภายหลังการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ธีเห็นว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนธุรกิจของครอบครัวได้รับผลกระทบ และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธีหันมาติดตามสนใจเรื่องการเมืองมากยิ่งขึ้น นอกจาก ผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ธีออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง นั่นคือ ‘แบงค์’ เพื่อนสนิทของธี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยิงกระสุนยางเข้าที่บริเวณสะโพก ระหว่างการชุมนุมครั้งหนึ่งที่แยกเกียกกาย
จากแรงผลักดันดังกล่าว ตั้งแต่ปลายปี 2563 ธีตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย เชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งธีก็ได้ตอบรับ หน้าที่หลักของธีเปลี่ยนไปเป็น ‘การ์ด’ คอยดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและป้องกันไม่ให้มือที่สามเข้ามาสร้างความวุ่นวายในกิจกรรมของประชาชน
ในช่วงเดือนส.ค.- ต.ค. 2564 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ “ทะลุแก๊ส” ตำรวจได้ตั้งจุดตรวจด่านความมั่นคงจำนวนมาก 29 ส.ค. 2564 มาย ชัยพรและธี ถิรนัย ถูกจับกุมที่จุดตรวจด่านความมั่นคงของตำรวจ เนื่องจากมีการตรวจค้นพบระเบิดปิงปองใต้เบาะรถ ภายหลังถูกสั่งฟ้องในวันที่ 30 ส.ค. 2564 ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้ติดกำไล EM คดีมีการต่อสู้กันในชั้นศาล โดยมายตัดสินใจรับสารภาพในนาทีสุดท้าย
15 ก.พ. 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มายมีความผิดฐาน “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ระบุว่า ระเบิดปิงปองในครอบครองทั้ง 10 ลูกที่ถูกตรวจค้นเจอนั้น อัยการเห็นว่าเป็น ‘ระเบิดแสวงเครื่อง’ อยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้หากถูกอวัยวะสำคัญ อีกทั้งยังสามารถทำอันตรายต่อวัตถุและทรัพย์สินได้ ในระยะไม่เกิน 2 เมตร จำคุกทั้งสองคนละ 6 ปี แต่ลดกึ่งหนึ่ง เนื่องจากให้การรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 3 ปี ทั้งคู่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์
16 ก.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีนั้น หนักเกินไป ศาลอุทธรณ์เห็นควรแก้ไขให้เหมาะสม จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นลงโทษในฐานมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 98 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 3 ปี ถิรันัยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
11 ส.ค. 2567 ธี ถิรนัย พ้นโทษหลังถูกคุมขังมาแล้ว 544 วัน หรือประมาณ 1 ปี 6 เดือน