ชัยพร (สงวนนามสกุล) (24 ปี)/ Chaiyaporn
อาชีพ: (ช่าง) รับจ้างติดกล้องวงจรปิด
คดี : ครอบครองระเบิด
วันที่ถูกจำคุก : 15 ก.พ. 2556 / 15 Feb. 2023
สถานที่คุมขัง : เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ถูกจำคุกมาแล้ว :
“มาย” ชัยพร จบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ระดับชั้น ม.6 ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้ ประกอบอาชีพรับจ้างติดกล้องวงจรปิดเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวมาก่อน
ก่อนถูกดำเนินคดีนี้ มายเพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 และตั้งใจว่าจะสมัครเรียนต่อวิทยาลัยอาชีวะแห่งหนึ่งในระดับชั้น ปวส. สาขาช่างไฟฟ้า แต่ตลอดการสู้คดี 2 ปีที่ผ่านมา เขาไม่กล้าสมัครลงเรียนที่สถาบันแห่งใดเลย เพราะคดีความยังคงไม่สิ้นสุด เขากังวลว่าหากต้องติดคุกขึ้นมากลางคัน เงินค่าเทอมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนจะกลายเป็นสูญเปล่าไปโดยปริยาย
เมื่อช่วงปี 2563 สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้นร้อนแรง เนื่องจากประชาชนต่างไม่พอใจกับคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อเกิดเป็นการประท้วงกระแสสูง กระจายอยู่เกือบทั่วประเทศ และกลายเป็นจุดตั้งต้นของการเคลื่อนไหวระลอกใหม่นี้จนถึงปัจจุบัน
‘จุดเปลี่ยน’ ของมายจากการติดตามสถานการณ์การเมืองทางโซเชี่ยล เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน ในการชุมนุมของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รถฉีดแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนเป็นครั้งแรก จากเหตุการณ์นั้นมายตัดสินใจรวมกลุ่มกับเพื่อนออกไปช่วยเหลือผู้ชุมนุมในฐานะ “การ์ด” เป็นครั้งแรก
มายเข้าร่วมกับเพื่อนกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รับทำหน้าที่เป็นการ์ดดูแลผู้ชุมนุมบทบาทหลักคือการคอยสอดส่องภาพรวม ไม่ให้มีมือที่ 3 หรือผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ในการชุมนุม ต่อมา มายแยกตัวไปเข้าร่วมกับกลุ่ม “ฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย” แต่สุดท้ายมายตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวอิสระ
ในช่วงเดือนส.ค.- ต.ค. 2564 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ “ทะลุแก๊ส” ตำรวจได้ตั้งจุดตรวจด่านความมั่นคงจำนวนมาก 29 ส.ค. 2564 มาย ชัยพรและธี ถิรนัย ถูกจับกุมที่จุดตรวจด่านความมั่นคงของตำรวจ เนื่องจากมีการตรวจค้นพบระเบิดปิงปองใต้เบาะรถ ภายหลังถูกสั่งฟ้องในวันที่ 30 ส.ค. 2564 ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้ติดกำไล EM คดีมีการต่อสู้กันในชั้นศาล โดยมายตัดสินใจรับสารภาพในนาทีสุดท้าย
15 ก.พ. 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มายมีความผิดฐาน “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ระบุว่า ระเบิดปิงปองในครอบครองทั้ง 10 ลูกที่ถูกตรวจค้นเจอนั้น อัยการเห็นว่าเป็น ‘ระเบิดแสวงเครื่อง’ อยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้หากถูกอวัยวะสำคัญ อีกทั้งยังสามารถทำอันตรายต่อวัตถุและทรัพย์สินได้ ในระยะไม่เกิน 2 เมตร จำคุกทั้งสองคนละ 6 ปี แต่ลดกึ่งหนึ่ง เนื่องจากให้การรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 3 ปี ทั้งคู่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์
16 ก.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีนั้น หนักเกินไป ศาลอุทธรณ์เห็นควรแก้ไขให้เหมาะสม จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นลงโทษในฐานมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 98 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 3 ปี ชัยพรให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
12 ส.ค. 2567 มาย ชัยพร พ้นโทษหลังถูกคุมขังมาแล้ว 545 วัน หรือประมาณ 1 ปี 6 เดือน