เปิดประวัติศาสตร์ “นักโทษทางการเมือง” ที่หยั่งรากลึกลงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีบันทึกถึงเรื่องราวของนักโทษทางการเมืองอยู่เสมอ และความจริงที่แสนมืดมนเช่นนี้ก็ยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก
การจับกุมคุมขัง “Political Prisoners” ถือเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจมักหยิบมาใช้เพื่อจัดการปราบปรามผู้คนที่เห็นต่างหรือต่อต้าน เช่นเดียวกับเพื่อรักษาอำนาจและการควบคุมของตัวเอง บุคคลที่ตั้งคำถาม ต่อต้าน หรือขัดขืนต่ออำนาจนั้นเสี่ยงที่จะถูกจับกุม สูญเสียอิสรภาพ เสียชีวิต หรือเลวร้ายไปกว่านั้นคือถูกทำให้สูญหายไป ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของมนุษยชาติ มีบันทึกเรื่องราวที่ว่าด้วยนักโทษทางการเมืองปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ และความจริงที่แสนมืดมนเช่นนี้ก็ยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกในวินาทีนี้
นักโทษทางการเมืองในประวัติศาสตร์
การกักขังบุคคลด้วยเหตุผลทางการเมืองไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในโลกยุคนี้ แต่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเสมอมา และเชื่อมโยงอยู่กับการดำรงอยู่ของ “อำนาจ” ของผู้ปกครองในแต่ละยุคสมัย ดังเช่นโสกราตีส นักปราชญ์ของกรีกโบราณ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นนักโทษทางการเมืองคนแรกๆ ที่มีบันทึกไว้ เขาถูกกล่าวหาว่าวางยาพิษในจิตใจของเยาวชนผ่านการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและผู้ปกครอง พร้อมตั้งคำถามต่อความเชื่อและบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งทำให้โสคราตีสถูกควบคุมตัวและตัดสินประหารชีวิตเมื่อ 399 ปีก่อนคริสตกาล
ทั้งนี้ นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าพระเยซูและนักบุญเปโตรก็ถือเป็นนักโทษทางการเมืองด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับกาลิเลโอ กาลิเลอี ที่ถูกบังคับกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านภายใต้การควบคุมของศาสนาโรมัน ตราบจนเขาเสียชีวิตในศตวรรษที่ 17 หลังจากเขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหม่ที่ว่าด้วยดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลของศาสนาโรมัน หรือในช่วงยุคกลางของยุโรปที่การจับนักโทษทางการเมืองกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เมื่อรัฐบาลราชาธิปไตยมีอิสระที่จะดำเนินการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างหรือผู้ต่อต้านอำนาจของรัฐ การจับกุมนักโทษทางการเมืองในยุคนี้มีให้เห็นจำนวนมากจนมีการสร้างสถานที่เพื่อคุมขังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นเรือนจำที่มีไว้เพื่อขังนักโทษทางการเมืองหลายแห่ง อาทิ หอคอยแห่งลอนดอน (Tower of London) และคุกบัสตีย์ (Bastille) เป็นต้น
เรื่องราวของนักโทษทางการเมืองยังปรากฏให้เห็นในยุคต่อๆ มา ซึ่งแต่ละยุคสมัยและวัฒนธรรมก็มีการใช้รูปแบบการลงโทษที่แตกต่างกันเพื่อปิดปากบุคคลที่ลุกขึ้นมาท้าทายระบบระเบียบที่ผู้มีอำนาจจัดตั้งขึ้น จากคืนวันที่แสนมืดมนของระบบการปกครองของสตาลินแห่งสหภาพโซเวียต ความวุ่นวายของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน สู่เผด็จการกัสโตรในคิวบา และการกักขังนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีจำนวนมากในอิหร่าน สะท้อนให้เห็นรูปแบบการลงโทษบุคคลผู้เห็นต่างที่ชัดเจน และไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ของนักโทษทางการเมืองที่เชื่อมโยงอยู่กับผู้มีอำนาจในสังคมได้เลย
รูปแบบการลงโทษที่เปลี่ยนไป
การจับกุมคุมขังนักโทษทางการเมืองมีการพัฒนารูปแบบเรื่อยมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในขณะนั้น จากเดิมที่การจับกุมมักเชื่อมโยงกับเหตุผลทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบอบเผด็จการ ปัจจุบันนี้ก็ปรากฏการดำเนินคดีที่คล้ายกันในประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยเช่นกัน
การคุมขังนักโทษทางการเมืองในประเทศที่มีระบอบการปกครองแตกต่างกัน อาจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป ในระบอบเผด็จการ การคุมขังอาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย แต่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แต่ในประเทศประชาธิปไตยหรือแสดงออกว่ามีนิติรัฐ การใช้ข้อกล่าวหาทางกฎหมายและการคุมขังสามารถเกิดขึ้นภายใต้รูปแบบของกระบวนการยุติธรรม แม้การพัฒนาระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ควรจะดำเนินไปพร้อมๆ กับการที่ไม่มีใครในสังคมนั้นถูกจับกุมคุมขังจากสาเหตุเพียงเพราะการแสดงออกทางความคิดหรือการชุมนุมโดยสงบสันติ แต่หลายประเทศก็ยังมีผู้ถูกคุมขังจากสาเหตุดังกล่าว
บ่อยครั้งที่การจับกุมนักโทษทางการเมืองมักถูกปิดบังด้วยข้อหาอาชญากรรมทั่วไป เช่น ในรัสเซีย ฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน มักถูกรัฐบาลตั้งข้อหาทุจริต ซึ่งนานาชาติเชื่อว่าเป็นการลงโทษที่ถูกใช้เพื่อปิดปากบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือในช่วงเลือกตั้งทั่วไปปี 2021 ของประเทศนิการากัว ที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและฝ่ายค้านของรัฐบาลดานิเอล ออร์เตกา ถูกควบคุมตัวในข้อหาอาญาต่างๆ เช่น สมรู้ร่วมคิดบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ฟอกเงิน หรือก่อกบฏ เป็นต้น ซึ่งการจับกุมลงโทษเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามกำจัดคู่แข่งขันทางการเมืองของตัวเอง
นอกจากนี้ กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายยังถูกใช้เพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างในหลายประเทศ โดยระบุว่าบุคคลนั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ฉาวโฉ่ในประเทศเวเนซุเอลา ภายใต้การปกครองของนิโกลัส มาดูโร ที่มีการนำกฎหมายต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรอาชญากรรม และกฎหมายป้องกันอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง มาใช้เพื่อจับกุมคุมขังนักข่าว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสมาชิกฝ่ายค้าน ด้วยการตั้งข้อหา “ส่งเสริมการก่อการร้าย”
ในส่วนของสหรัฐอเมริกามีการใช้คำว่านักโทษทางการเมืองในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง และถูกใช้กับบุคคลต่างๆ เช่น โรซา พาร์กส or an annual totalมาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ และต่อมาถูกใช้กับบุคคลที่ถูกจับคุมขังเนื่องจากคัดค้านการที่สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำจำกัดความอย่างเป็นทางการของนักโทษการเมืองในสหรัฐฯ เนื่องจากการคุ้มครองทางกฎหมายที่ว่าด้วยเสรีภาพและการแสดงออกทางการเมืองที่เข้มงวดของสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ใช้คำนี้เพื่อระบุถึงบุคคลที่โดนผู้มีอำนาจใช้กฎหมายเพื่อปิดปากหรือหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขา
นักโทษทางการเมืองคือภาพสะท้อนของการปกครองที่ผู้มีอำนาจพยายามปิดปากกลุ่มคนที่ท้าทายหรือวิพากษ์วิจารณ์อำนาจของรัฐ ซึ่งเผยให้เห็นการใช้ระบบตุลาการมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แน่นอนว่ามันคือการบ่อนทำลายความยุติธรรมของประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกับทำลายความเป็นประชาธิปไตยในประเทศประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกความคิดเห็นของตัวเองโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายที่จะวนกลับมาทำร้ายตัวเอง ดังเช่นที่มีให้เห็นในหลายกรณีทั่วโลกและในประเทศไทย
References:
Pathway to Freedom: Handbook for the Liberation of Political Prisoners โดย World Liberty Congress
Political Prisoners Overview & History
https://study.com/academy/lesson/political-prisoners-overview-history.html
“I felt a kind of pleasure in seeing them treat us brutally.” The Emergence of the Political Prisoner, 1865–1910
https://www.cambridge.org/core/journals/comparative-studies-in-society-and-history/article/i-felt-a-kind-of-pleasure-in-seeing-them-treat-us-brutally-the-emergence-of-the-political-prisoner-18651910/0EF9733DD65CFB2D0C7FADC1D46F992D
Explainer: What Defines A Political Prisoner?
https://www.rferl.org/a/explainer-political-prisoners/24881810.html