เรื่องเล่าของ ‘ปฏิมา’ จากนักโทษสู่คนคอย และการนิรโทษกรรมที่เป็นทางออกของความคิดถึง

ในขณะที่การจับกุมประชาชนจากการแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนเมื่อปี 2563 แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่จะกลายเป็นข่าวใหญ่หรือได้รับความสนใจจากคนในสังคม ยังมีคนมากมายที่ต้องเดินเข้าเรือนจำด้วยความรู้สึกที่โดดเดี่ยว 

ความรู้สึกโดดเดี่ยวคือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในความคิดของ “ปฏิมา” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเธอเป็นหนึ่งในประชาชนที่กลายเป็น “นักโทษทางการเมือง” เมื่อถูกกล่าวหาในคดีปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 หลังการชุมนุมรำลึกเมษาเลือด #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือจากมวลชนข้างนอกที่ถูกส่งเข้าไปถึงปฏิมาในเรือนจำ ก็ทำให้เธอรับรู้ได้ว่าเธอไม่ได้ตัวคนเดียว

ปฏิมาได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 หลังถูกคุมขัง 47 วัน และปัจจุบันเธอได้รับการประกันตัวในระหว่างชั้นฎีกา แต่แม้พ้นจากการเป็นผู้ต้องขัง เธอกลับต้องกลายเป็นผู้เข้าเยี่ยม เมื่อ “บุ๊ค ธนายุทธ ณ อยุธยา” แฟนหนุ่มของเธอต้องเดินเข้าสู่เรือนจำ ความห่วงใย ความกังวล และความคิดถึง เป็นตัวขับเคลื่อนให้ปฏิมาเดินทางไปหาเขาทุกวัน แม้จะเป็นการเดินทางที่ยาวนานและมีเวลาได้พูดคุยกันเพียงน้อยนิดก็ตาม 

และนี่คือเรื่องเล่าของ “ปฏิมา” ผู้เชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้บุ๊คได้กลับบ้านเร็วที่สุด 

 

เด็กธรรมดาสู่สถานะ “นักโทษทางการเมือง” 

ปฏิมาเกิดที่กรุงเทพ แต่หลังจากที่พ่อแม่ของเธอแยกทางกัน เธอก็ย้ายไปเติบโตที่ต่างจังหวัดกับพี่สาวของคุณยาย ก่อนจะเข้าเรียนต่อในระดับ ปวช. ภาควิชาไฟฟ้ากำลัง ที่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก จังหวัดอุดรธานี แต่น่าเสียดายที่เธอไม่สามารถคว้าวุฒิการศึกษาดังกล่าวมาประดับตัวได้ 

“หนูเรียนไฟฟ้ากำลังค่ะ แต่พอ ปวช.3 เราต้องหาที่ฝึกงาน แล้วไม่มีที่ไหนรับผู้หญิงเลย คือมันเป็นวิชาชีพที่ไม่ค่อยมีผู้หญิงเรียนด้วย หนูเลยตัดสินใจไม่เรียนแล้ว หนูเลยโทรหาพ่อที่นนทบุรี บอกว่าเดี๋ยวจะไปหา แล้วหนูก็มาเลย” 

ในวัย 20 ปี ปฏิมาเข้าร่วมการชุมนุมของประชาชนหลายครั้ง แต่การชุมนุมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอคือการเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกเมษาเลือด #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเธอถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าหน้ากรมทหารราบที่ 1 และถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น และพาอาวุธเข้าไปในเมืองฯ โดยไม่มีเหตุอันควร” 

“ตำรวจบอกหนูว่าจะให้หนูไปให้การเป็นพยานที่ สน. แล้วก็จะส่งกลับ แล้วก็ให้หนูไปกับน้องเยาวชนอีกคนหนึ่ง พอไปถึงตอนนั้นก็ราวตีสอง เขาก็สอบปากคำตั้งแต่ตอนนั้นเลย นั่งสอบจนเช้าถึงตอนเย็นของวันที่ 11 พอสำนวนเสร็จ เขาก็แจ้งข้อกล่าวหาตัวหนูเอง แล้วเขาก็อ่านให้ฟัง” 

“ตอนนั้นยังไม่มีทนาย ตัวหนูไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้อะไรเลย เป็นเด็กธรรมดาที่ไปร่วมกิจกรรม ไม่รู้ว่ามีกองทุน ไม่รู้ว่ามีศูนย์ทนายคอยช่วยเหลือ เราไม่รู้ว่ากระบวนการมันต้องติดต่อทนาย ติดต่อญาติ แต่หนูโทรหาพ่อบุ๊ค บุ๊คเลยติดต่อทนายเบียร์ แล้วสายสุดท้ายที่หนูได้คุยก่อนเข้าเรือนจำ ก็คือทนายเบียร์โทรมาบอกว่าเรารู้ตัวไหมว่าตำรวจหลอกเรานะ เขาไม่ได้เอาเราไปฝากขังไว้ที่ศาล แต่เขาเอาเราไปฝากขังที่เรือนจำ หนูก็แบบห๊ะ เข้าคุกเลย แต่ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ หนูก็ค่ะๆ อย่างเดียว ตอนนั้นคือใส่กุญแจมือเรียบร้อยแล้ว จะขึ้นรถอยู่แล้ว ก็เลยได้คุยกับทนายเบียร์เป็นสายสุดท้าย แล้วก็ขึ้นรถไปเรือนจำเลย” 

 

ชีวิตในเรือนจำ เรื่องจริงที่ไม่อยากยอมรับ

ปฏิมาเล่าว่าตอนเจ้าหน้าที่เรือนจำสอบถามว่าเธอเข้าเรือนจำด้วยคดีอะไร เธอเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอโดนคดีอะไร รู้เพียงว่าเป็นคดีเกี่ยวกับการชุมนุม ถึงแม้จะสับสนในห้วงเวลาที่แสนวุ่นวายของกระบวนการทางกฎหมาย แต่ปฏิมาก็ต้องเดินหน้าต่อไป แม้ข้างหน้าของเธอจะเป็นทัณฑสถานหญิงกลางก็ตาม

“คืนแรกที่เข้าไป เขาก็ให้อาบน้ำกินข้าวแล้วเข้านอน ซึ่งหนูที่ถูกสอบสวนตั้งแต่ตีสาม ลากมาถึงสี่โมงเย็น แล้วก็เข้าเรือนจำต่อเลย หนูก็นอนหลับเลย คืนแรกมันงงด้วย มันเหมือนฝันที่อะไรวะเนี่ย แต่คืนที่สอง เราตื่นมา เรารู้แล้วว่านี่คือเรื่องจริงแล้วนะ ความรู้สึกมันดำดิ่งลงไปเลยทันที เรารู้แล้วว่านี่คือชีวิตจริง มันคือเรื่องจริง” 

“ช่วงนั้นมันติดสงกรานต์ด้วยค่ะ สิบวันแรกที่อยู่ในนั้นก็เลยทรมานมาก พูดตรงๆ ว่าอยู่ไม่ได้ เพราะหนูห่วงแมว ห่วงบุ๊ค มันเป็นช่วงที่สาหัสมาก เรียกว่าบ้าเลยก็ได้ มีเพื่อนในห้องมาปรึกษาเรื่องคดี หนูก็บอกอะไรเขาไม่ได้เพราะก็ไม่รู้อะไรเลย หนูเลยขอพี่เลี้ยงว่าขอเขียนจดหมายหาที่บ้านได้ไหม เพราะที่บ้านไม่รู้ว่าหนูอยู่ในเรือนจำ เขาก็ให้เขียนห้าบรรทัด หนูก็เลยเขียนจดหมายไปหายายที่บ้าน บอกว่าหนูอยู่ทัณฑสถานหญิงนะ หาทนายมายื่นประกันให้หน่อย ที่บ้านเขาเลยบอกบุ๊ค แต่บุ๊คเขาทำทุกอย่างข้างนอกเป็น เขาติดต่อศูนย์ทนายฯ เดินเรื่องให้ ที่บ้านก็เลยเบาใจ” 

 

กำลังใจที่หลั่งไหลเข้าไปให้

“หลังพ้นช่วงสงกรานต์ไปแล้ว ก็มีพี่เฟิร์นไปเยี่ยม แล้วก็มีของจากแม่ๆ ที่ซื้อให้ ฝากเข้าไปข้างใน หนูได้ผ้าถุง ได้ของใช้ น้ำเปล่า ซึ่งมันทำให้หนูอยู่ได้แบบสบายขึ้น คือมันก็ไม่ได้ทั้งหมด แต่มันทำให้หนูไม่ต้องไปใช้ของที่เรือนจำแจก” 

ปฏิมาคิดอยู่ตลอดว่าตัวเองเป็นเพียงเด็กธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จัก และเธอเองก็ไม่ได้รู้จักกับมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมเลยสักคน การได้รับสิ่งของที่ถูกฝากเข้าไปให้เธอในเรือนจำ ทำให้หัวใจของปฏิมาพองโต สิ่งของเหล่านี้เครื่องพิสูจน์ว่าเธอไม่ได้สู้เพียงลำพัง แต่เธอยังมีคนมากมายที่คอยสู้ไปพร้อมๆ กับเธอ และคนข้างนอกก็ไม่มีใครลืมเธอเช่นกัน

“การได้ของพวกนี้ทำให้หนูรับรู้ได้ว่าเขามาหานะ เขาไม่ลืมหนู ทั้งๆ ที่เคสของหนูเป็นเคสที่เงียบมาก เป็นเคสที่จู่ๆ ก็เข้าเรือนจำเลย ไม่มีใครรู้ แต่มวลชนแม่ๆ ข้างนอกก็ยังรู้ว่าเราโดนมาจากคดีม็อบ หนูได้ทั้งของเยี่ยม โปสการ์ดก็ได้รับค่ะ” 

“ส่วนตัวหนูคิดว่าการได้รับจดหมายหรือสิ่งของอะไรแบบนี้มันมีค่ามาก มีประโยชน์มากกว่าการไปเยี่ยมแบบเห็นหน้าอีก เพราะมันจับต้องได้ เก็บไว้ดูได้ เก็บไว้กอดได้” 

 

จากผู้ต้องขังกลายเป็นผู้เข้าเยี่ยม

ปฏิมาถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังถูกควบคุมตัวได้ 47 วัน แต่เธอก็ได้กลับมาอยู่กับคนรักของเธอได้เพียงไม่นาน เมื่อบุ๊คถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด และถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 

“ตอนแรกที่บุ๊คติดคุก เราก็คุยกันว่าหนูอาจจะกลับบ้านนะ เอาแมวกลับไปอยู่บ้าน เพราะหนูก็เกรงใจบ้านบุ๊คด้วย แต่เขาก็บอกว่าอยากให้เราอยู่รอก่อน เขาคงคิดว่าจะได้ประกันตัวแหละ แต่พอผลประกันออกมา เราก็ต้องกลับมาคิดใหม่ว่าจะเอายังไงต่อ ที่บ้านก็นั่งประชุมกันว่าจะเอายังไง สรุปคือที่บ้านบุ๊คก็โอเคที่จะให้หนูอยู่บ้าน เพื่อจะได้ไปเยี่ยมบุ๊ค คอยส่งข่าวว่าบุ๊คเป็นอย่างไรบ้่าง” 

ปฏิมาและบุ๊ครับรู้ดีว่าการถูกดำเนินคดีทางการเมืองแบบนี้ต้องใช้เงิน พวกเขาทั้งคู่แบ่งเงินเก็บไว้ครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้ชีวิต เมื่อใครสักคนต้องเข้าเรือนจำ แม้จะมีเงินจากการสตรีมมิ่งเพลงของบุ๊ค แต่ก็ไม่ได้เป็นจำนวนเงินมากนัก ทำให้ปฏิมาต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัดที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ 

“หนูอยากไปเยี่ยมบุ๊คได้ในระยะยาว หนูเลยต้องประหยัด อย่างค่ารถไปเยี่ยมบุ๊คก็สามร้อยบาทต่อวันแล้วไปกลับ คือตอนแรกบุ๊คไม่โอเค หนูก็ไปให้กำลังใจ ไปเยี่ยมเขาทุกวัน ตัวหนูเองด้วยที่ไม่โอเค เพราะหนูจะรู้สึกมากกว่าเขาอยู่แล้ว พอเจอสถานการณ์แบบนี้ กลายเป็นหนูเองที่รับไม่ไหว เลยต้องไป เพื่อที่หนูจะได้เจอเขา เขาอยากเจอหนูมากน้อยแค่ไหนไม่รู้นะ แต่หนูอยากเจอ หนูเป็นห่วง เพราะหนูเป็นคนข้างในมาก่อน หนูรู้ว่าข้างในอยู่ยากมาก” 

“คดีของบุ๊คก็หวังเรื่องนิรโทษไว้เยอะมาก ตอนแรกเราก็หวังว่าสักวันศาลน่าจะให้ประกันตัว แต่ในตอนนี้ที่สถานการณ์เป็นแบบนี้ เราไม่หวังแล้วว่าศาลจะให้ประกัน หนูก็เลยหวังเรื่องนิรโทษกรรมมากกว่า เพราะน่าจะเป็นทางเดียวที่จะได้กลับบ้าน” ปฏิมาบอกความหวังในใจปิดท้าย 

Share This Story

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า