ปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีกว่า 76,000 คน หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 26 ของผู้ต้องขังที่มีทั้งหมด ผู้ต้องขัง “คดีการเมือง” จำนวนหนึ่งก็เป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีพฤติกรรมในการหลบหนีก็ตาม นอกจากจะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวแล้ว ขณะที่ถูกคุมขังพวกเขายังถูกลิดรอนสิทธิในการ “เยี่ยม” จากบุคคลภายนอกอีกด้วย
การเปิดให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำ เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ญาติหรือเพื่อนยังคงมีโอกาสได้มีปฎิสัมพันธ์กับผู้ที่ถูกขังอยู่ การได้พบเจอพูดคุยกับคนที่พวกเขาไว้ใจล้วนเป็นพลังที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องขังทางการเมืองที่ต้องเข้าเรือนจำจากการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพและการแสดงออก การได้พบผู้ที่สามารถเข้าใจและสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเขา นอกจากจะเป็นกำลังใจที่ดีแล้วยังเป็นช่องทางไม่กี่ช่องทางที่จะทำให้ผู้ต้องขังได้รับรู้ความเป็นไปของสังคมภายนอกและยังสามารถช่วยสื่อสารกับสังคมในประเด็นที่พวกเขากำลังต่อสู้อยู่
สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมนั้นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งไว้ เนื่องจากเรือนจำเป็นเพียงสถานที่ที่บังคับลงโทษในห้วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษก็จำต้องกลับเข้ามาอยู่ในสังคมอย่างไม่รู้สึกแปลกแยกหรือสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป ยังไม่ต้องพูดถึงว่าผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยยังถือเป็น “ผู้บริสุทธิ์” จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากนี้การเข้าเยี่ยมยังเป็นข้อกําหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (The Mandela Rules) ที่ได้รับรองสิทธิของผู้ต้องขังในการติดต่อกับโลกภายนอกไว้ด้วย
แม้ว่าการเข้าเยี่ยมจะมีความสำคัญต่อกำลังใจของผู้ต้องขังและยังเป็นสิทธิโดยชอบธรรม แต่ดูเหมือนว่าการเข้าเยี่ยมในเรือนจำของประเทศไทยยังคงมีความยากลำบากหลายมิติ ความยากลำบากจากกฎเกณฑ์ของการเข้าเยี่ยมที่จำกัดนี้เองกำลังบั่นทอนทั้งการดำรงชีวิตอยู่ในเรือนจำของผู้ต้องขัง ตัวญาติ และเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากผู้ที่รักและอยากสนับสนุนผู้ต้องทางการเมือง
ระเบียบของเรือนจำที่แตกต่างกัน สู่การไม่มีมาตรฐานกลางในการเยี่ยม
การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำนั้นดำเนินการภายใต้ “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ.2561” อย่างไรก็ตาม เรือนจำแต่ละแห่งยังมีระเบียบย่อยบังคับใช้เป็นของตนเอง ซึ่งระบุกฎเกณฑ์การเข้าเยี่ยมที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เรือนจำแต่ละแห่งไม่มีเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสนและความไม่แน่นอนให้กับผู้ที่จะเข้าเยี่ยม และในบางครั้งได้กลายเป็นการละเมิดสิทธิต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ
ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นและสะท้อนความไร้มาตรฐานของเรือนจำได้อย่างชัดเจนคือการที่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำบางแห่งไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบผู้ต้องขังโดยอ้างว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องปรึกษาหรือพบทนายความอีก ซึ่งการดำเนินการของเรือนจำนี้เป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายหลายบท ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (3) และพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 61 ถือเป็นการละเมิดที่มิให้สิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังในการพบและปรึกษากับทนายความ
แม้ว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในปี 2564 ว่าคำสั่งการห้ามเยี่ยมผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดนั้นเป็นการกระทำที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญฯ แต่การใช้ดุลยพินิจดังกล่าวยังคงปรากฏขึ้นในเรือนจำหลายแห่ง สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไร้มาตรฐานของเรือนจำ อีกทั้งยังไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานที่เป็นการเคารพสิทธิของผู้ต้องขังอีกด้วย
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงระบบการเข้าเยี่ยมใด ๆ ยังขึ้นอยู่กับตัวของเรือนจำแต่ละแห่ง ซึ่งเรือนจำสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเยี่ยมได้อยู่ตลอด โดยทางเรือนจำมักอ้างบริบทที่และความจำเป็นที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ๆ รูปแบบการเข้าเยี่ยมจึงไม่ได้มีมาตรฐานที่ตายตัว มีความไม่แน่นอนสูง สร้างความยากลำบากให้กับทั้งทนายและญาติผู้เข้าเยี่ยมเป็นอย่างมาก
เข้าเยี่ยมได้เพียง 10 รายชื่อ – บางเรือนจำให้เฉพาะญาติเพียงเท่านั้น
การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถเข้าเยี่ยมได้ ผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมได้จะต้องเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ใน “10 รายชื่อ” ผู้เข้าเยี่ยม ที่ได้ทำการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการไว้กับทางเรือนจำเท่านั้น นั่นหมายความว่าคนที่ผู้ต้องขังจะพบหน้าจากการเข้าเยี่ยมในระหว่างที่พวกเขาอยู่ในเรือนจำนั้นจะมีได้ไม่เกิน 10 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเป็นอย่างยิ่งเทียบกับจำนวนคนที่เขารู้จักในสังคม ทำให้พวกเขาอาจไม่มีโอกาสได้พบเจอกับคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่อยากเข้าเยี่ยมหรือเป็นกำลังใจให้พวกเขา หรือหากอยากพบก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการสับเปลี่ยนรายชื่อ
นอกจากนี้ ในบางกรณีแม้ว่าจะมีรายชื่ออยู่ใน 10 รายชื่อของผู้ที่เข้าเยี่ยมได้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่ทำให้คนที่มีรายชื่อนั้นไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ เช่น กรณีของ “สถาพร” ที่เรือนจำบางขวาง ต้องให้ญาติทำหนังสือมอบอำนาจให้เพื่อนเสมือนเป็นการรับรองเพื่อให้สามารถเข้าเยี่ยมได้ ทำให้ผู้ที่ต้องการจะเข้าเยี่ยม ต้องเข้าถึงญาติและประสานงานกับญาติเพื่อทำหนังสือมอบอำนาจกว่าจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ก็อาจใช้เวลาหลายเดือน
ในบางกรณีแม้ว่าบุคคลคนนั้นจะมีรายชื่ออยู่ใน 10 รายชื่อของผู้ที่เข้าเยี่ยมแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ เช่น กรณีของ “สถาพร” ที่เรือนจำบางขวาง ต้องให้ญาติทำหนังสือมอบอำนาจให้เพื่อนเสมือนเป็นการรับรองเพื่อให้สามารถเข้าเยี่ยมได้ ทำให้ผู้ที่ต้องการจะเข้าเยี่ยม ต้องเข้าถึงญาติและประสานงานกับญาติเพื่อทำหนังสือมอบอำนาจกว่าจะสามารถเข้าเยี่ยมได้ก็อาจใช้เวลาหลายเดือน
เอกชัย หงส์กังวาน อดีตผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ได้ให้ความเห็นว่าในกรณีของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง มีหลายคนที่ไม่ได้มีญาติเข้าเยี่ยม แต่สังคมของพวกเขาคือกลุ่มเพื่อน ๆ ที่ไปร่วมชุมนุมด้วยกัน เมื่อถูกกีดกันในการเยี่ยมเพียงเพราะไม่ใช่ญาติทางสายเลือด ก็ทำให้พวกเขาขาดกำลังใจจากกลุ่มคนที่เป็นสังคมของพวกเขา โดยทั่วไปในชีวิตของคนปกติ ย่อมมีทั้งญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง การจำกัดรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมเพียง 10 คน จึงก่อให้เกิดอุปสรรคกับทั้งผู้ต้องขังและผู้ที่อยากเข้าเยี่ยม
ใช้เวลายาวนานกว่าจะได้เยี่ยม แต่ได้พูดคุยกันเพียงน้อยนิด
แต่ละเรือนจำกำหนดความถี่ในการเข้าเยี่ยมที่แตกต่างกัน โดยบางแห่งสามารถให้ญาติเข้ามาเยี่ยมได้จันทร์-ศุกร์ บางแห่งกำหนดให้เข้าเยี่ยมได้อาทิตย์ละครั้ง ในขณะที่เรือนจำบางแห่งกำหนดให้เข้าเยี่ยมได้เพียงเดือนละครั้ง เช่น กรณีที่เกิดกับ “บัสบาส” ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนกลางจำเชียงราย ซึ่งได้พบญาติและทนายเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น โดยไม่นานมานี้เรือนจำได้เพิ่มเป็นอาทิตย์ละหนึ่งครั้งซึ่ง ยังน้อยกว่าหลายๆเรือนจำซึ่งสามารถเยี่ยมได้เกือบทุกวัน
การเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาในแต่ละครั้งมีเวลาเพียง 10-15 นาที ทั้งทางออนไลน์และการเดินทางไปเยี่ยมที่เรือนจำ ซึ่งแทบไม่เพียงพอต่อการพูดคุยระหว่างญาติและผู้ต้องขัง โดยปัจจุบันกำลังมีการเรียกร้องให้เพิ่มเวลาเป็น 20 นาทีที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งมี “อาย กันต์ฤทัย” และ “มานี” และผู้ต้องขังทางการเมืองหญิงอีก 3 คน ถูกขังอยู่ เนื่องจากการเข้าเยี่ยมแต่ละครั้งโดยเฉพาะการเข้าเยี่ยมที่เรือนจำต้องเผื่อเวลาในการเดินทางและต้องกระทำในเวลาราชการระหว่าง 8.00-15.00 น. เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ญาติต้องลางานในตอนกลางวันเพื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง เรือนจำหลายแห่งนั้นใช้ระยะเวลาในการรอเข้าเยี่ยมอย่างน้อย 1 ชั่วโมง และก่อนจะถึงเวลาเข้าเยี่ยม บางครอบครัวยังต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงจากที่พัก บางครั้งก็ต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด
“เวลา” ล้วนเป็นต้นทุนสำคัญของทั้งผู้ต้องขัง ญาติและเพื่อน การมีโอกาสได้พบหน้าพูดคุยกันคือโอกาสเดียวที่ผู้ต้องขังจะได้ปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ดังนั้นเรือนจำจึงควรอำนวยความสะดวกด้านๆต่างๆในการเข้าเยี่ยมทั้งหน้าเรือนจำและทางออนไลน์ ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและเปิดกว้างทั้งเรื่องระยะเวลาและวิธีการ
การเยี่ยมผู้ต้องขังเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องพัฒนาให้ดีขึ้น
ในวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, Freedom bridge และ Amnesty International Thailand เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ เพื่อร่วมกันนำเสนอปัญหาสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมือง และข้อเสนอเพื่อพัฒนางานราชทัณฑ์ในด้านต่าง ๆ โดยหนึ่งในประเด็นที่ทางเราได้นำเสนอ คือปัญหามาตรฐานการเยี่ยมญาติของผู้ต้องขัง ซึ่งในแต่ละเรือนจำมีกฎระเบียบที่ใช้แตกต่างกัน สิ่งนี้เป็นปัญหาสำคัญของผู้ต้องขังในเรือนจำและผู้เข้าเยี่ยมที่ต้องการให้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเร่งด่วน
มาร่วมกันติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานการเข้าเยี่ยมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังสามารถสนับสนุนผู้ต้องขังในเรือนจำในด้านค่าใช้จ่ายรายเดือน อาหารการกิน สิ่งของจำเป็นในเรือนจำ และการช่วยเหลือชดเชยให้กับญาติผูต้องขัง ร่วมกับทาง Freedom Bridge ได้ทาง สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงศรี ชื่อบัญชี “มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม” เลขบัญชี 800-971-4462
อ้างอิง
https://tlhr2014.com/archives/2112
https://tlhr2014.com/archives/70372
https://tlhr2014.com/archives/2112
https://tlhr2014.com/archives/74893
https://www.hosdoc.com/service/ccioc-mainmenu-14/item/8-rights-of-detainee.html
http://www.correct.go.th/popsams/regularity.php
http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_result.php?date=2025-05-01&report=
chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://libdoc.dpu.ac.th/thesis/Chaiyapat.Chu.pdf