ปัญหาสุขภาพจิตในเรือนจำ: แรงกดดัน ความเครียด และโรคซึมเศร้า

หลายคนอาจพอจินตนาการได้ว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สภาวะและบรรยากาศในเรือนจำสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศที่กดดันภายใต้กฎระเบียบที่เคร่งครัดของเรือนจำ การถูกจำกัดเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ การอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นที่ไม่คุ้นเคยที่อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้นักโทษในเรือนจำประสบกับภาวะความเครียด ซึ่งมีระดับมากน้อยแตกต่าง ๆ กันไปแต่ละคน (1)

งานศึกษาจากมหาวิทยาลัย Oxford ชี้ให้เห็นว่าคนที่อาศัยอยู่ในเรือนจำประสบกับภาวะความเครียดมากกว่าคนในสังคมทั่วไปอยู่กว่า 2 เท่า ทั้งยังประสบกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า เช่นเดียวกัน (2) ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากกว่ากับผู้ที่ต้องเข้าเรือนจำเป็นครั้งแรก พวกเขาจะมีความรู้สึกหวาดกลัว เครียด และกดดันมากกว่าผู้ที่เคยเข้าเรือนจำมาแล้ว ซึ่งผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองจำนวนมากล้วนแล้วแต่ไม่เคยเข้าเรือนจำมาก่อน

 

สภาวะในเรือนจำที่เครียดและกดดัน กำลังส่งผลต่อสุขภาพจิตของใครหลายคน

ปัญหาทางสุขภาพจิต ดูเหมือนจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในเรือนจำหลายคนกำลังประสบพบเจออยู่ โดยจากการพูดคุยของทนายความที่เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องหาทางการเมือง พวกเขาได้สะท้อนว่าสภาวะความยากลำบากในเรือนจำนั้นทำให้หลายคนเกิดความเครียด และอาจจะมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา รวมทั้งบางคนปัญหาทางด้านความเครียดที่รุนแรง จนถึงในระดับที่ต้องไปรักษาที่สถานพยาบาลภายนอก

“พลอย” ธนพร ที่มีความเครียดจากความยากลำบากในเรือนจำ บรรยากาศที่ตึงเครียดและกดดัน ทำให้รู้สึกปวดหัว เธอยังเล่าให้ฟังว่าเพื่อนของเธอบางคนต้องกินยาซึมเศร้า เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาวะดังกล่าวได้(3) 

“แม็กกี้” ที่ประสบภาวะความเครียดจากคำพิพากษาที่ลงโทษยาวนานกว่า 25 ปี และการย้ายเรือนจำ ไปยังแดนที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เธอมีภาวะแพนิคที่รุนแรง จนต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงบาลราชทัณฑ์ ปัจจุบันเธอมีปัญหาการนอนไม่หลับและอารมณ์แปรปรวน ทำให้เธอต้องทานยาเคลายเครียดและยานอนหลับอย่างต่อเนื่อง(4)

“แบงค์” ณัฐพล ถูกหมอจากโรงบาลราชทัณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าขณะที่อยู่ในเรือนจำ อีกทั้งเขายังแสดงออกถึงความไม่ต้องการไปพบหมอ เนื่องจากใช้เวลารอยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง(5)

“ฐปานา” ได้เล่าถึงผลลัพธ์ของความเครียดจากการใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา ทั้งเรื่องของการเป็นห่วงภรรยาและลูก และความกังวลว่าศาลอาจตัดสินเพิ่มโทษ จนทำให้น้ำหนักตัวจาก 80 กิโลกรัมลดลงเหลือ 50 กิโลกรัม ทั้งหมดเป็นผลจากความเครียดสะสม(6)

 

แนวทางการดูแลและบำบัดรักษาด้านจิตเวชของราชทัณฑ์

แนวทางการดูแลสุขภาพจิตและจิตเวชแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต. พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นเอกสารที่ศูนย์สุขภาพจิต กองบริหารทางแพทย์ กรมราชทัณฑ์ จัดทำขึ้น  ระบุว่า การดูแลรักษาสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น เรือนจำได้มีมาตรการหลายรูปแบบเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเรือนจำ ตัวอย่างเช่น การจัดให้มีพื้นที่สำหรับให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ต้องขังโดยเฉพาะ มีทีมงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตโดยเฉพาะ การสร้างเครือข่ายผู้ตองขังเพื่อช่วยเหลืองานด้านสุขาภพจิตในเรือนจำ การให้ข้อมูลเรื่องการดูแลสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง

ในขั้นต้นทางเรือนจำจะมีระบบคัดกรองผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต เพื่อประเมินว่าผู้ต้องขังมีอาการระดับใด และจะดูแลรักษาอย่างไร เรือนจำจะให้ผู้ต้องขังได้คุยกับแพทย์เพื่อประเมินอาการผ่านการทำแบบประเมินภาวะสุขภาพจิตสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำไทย PMHQ Thai (แบบ สจ.2) ก่อน โดยหากมีคะแนน 0-28 คะแนน จะถือว่ามีสุขภาพจิตปกติ แต่หากมีคะแนน 29 ขึ้นไป จะถือว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต 

หากอาการอยู่ในระดับขั้นต้นที่ไม่รุนแรง ผู้ต้องขังก็จะได้เข้ารับบริการคลินิกคลายเครียด การให้คำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ การให้ยาในเบื้องต้น และการติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด

แต่หากอาการอยู่ในระดับที่รุนแรง หรือในระดับที่มีความเป็นจะต้องได้รักษา หมายถึงมีพฤติกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของตนเองและผู้อื่น และไม่สามารถปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาได้ ในกรณีนี้ ทางเรือนจำก็จะส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษา ณ สถานบำบัดรักษาภายนอกได้ 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอารการป่วยทางจิตอยู่ก่อนแล้ว หรืออยู่ในระดับรุนแรงที่ต้องได้รับยารักษาอย่างต่อเนื่องนั้น ก็จะได้รับยาต้านจิตเวชทานประจำอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน(7)

 

ข้อท้าทายของเรือนจำ: หลากหลายปัญหาการดูแลรักษาด้านจิตเวช 

แม้เรือนจำจะมีระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ในทางปฏิบัติเรือนจำยังคงประสบปัญหาการการดูแลรักษาในด้านจิตตเวชในหลายมิติ ทำให้ผู้ต้องขังในเรือนจำที่ประสบปัญหาทางจิตเวชยังไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เทียบเท่ากับก่อนเข้าไปในเรือนจำ

กฎระเบียบและหลักเกณฑ์ของราชทัณฑ์ที่มีความซับซ้อนส่งผลให้การเข้าถึงการรักษทางจิตเวชกลายเป็นความลำบากอย่างหนึ่งของผู้ต้องขัง มีผู้ต้องขังจำนวนหลายคนไม่ได้รับการรักษาในทันท่วงทีเพราะติดเรื่องยังไม่ผ่านระเบียบ และจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการเข้าถึงบริการทางจิตเวชเพราะมีความยุ่งยากและใช้เวลานานเกินไป ทั้งหมดล้วนส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยขาดความต่อเนื่อง เพราะติดขัดเรื่องระเบียบและขั้นตอนที่ยังไม่เรียบร้อย(8)

การขาดแคลนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในตำแหน่งเฉพาะทางอย่าง จิตแพทย์ นักจิตเวช ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการดูแลให้ความช่วยเหลือกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ผลที่ตามมาคือการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เรือนจำบางแห่งต้องให้ผู้ป่วยรอคอยการรักษาอย่างยาวนาน สามารถเข้าพบจิตแพทย์อาทิตย์ละครั้งเท่านั้น รวมถึงในบางกรณีขาดแคลนทรัพยากรในการบำบัดรักษา เช่น ยารักษาจิตเวช ส่งผลให้ในบางครั้งผู้ป่วยได้รับยารักษาไม่ครบตามอาการ ทำให้ไม่สามารถรักษาอาการให้หายขาดได้(9)

การไม่ได้มีมาตรการที่ดีพอในการรักษากับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องการได้รับฮอร์โมนเฉพาะ แต่ทางเรือนจำไม่สามารถจัดหาได้ แต่ให้ผู้ป่วยได้รับฮอร์โมนที่ไม่ตรงกำหนด จึงส่งผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาโดยตรงจากภาวะฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล รวมถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต้องการยารักษาเฉพาะจากโรงบาลภายนอก แต่เรือนจำไม่สามารถจัดหาให้ได้ ทำให้อาการซึมเศร้าของพวกเขานั้นรุนแรงกว่าเดิม(10)

 

ผู้ป่วยทางจิตในเรือนจำ: อีกกลุ่มคนที่ควรให้ความสำคัญ ท่ามกลางการขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญ

ผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคนมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนเข้าไปในเรือนจำ หลายคนมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้า ตัวอย่างเช่น “มานี” เงินตรา “อาย” กันต์ฤทัย “บัสบาส” มงคล พวกเขาเหล่านี้จำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สภาวะความเป็นอยู่ในเรือนจำที่แตกต่างจากการใช้ชีวิตข้างนอกและการดูแลรักษาของเรือนจำ ส่งผลให้อาการซึมเศร้าของพวกเขานั้นรุนแรงมากขึ้น

การดูแลรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าของเรือนจำนั้นมีปัญหาอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิ “มานี” ไม่สามารถรู้ได้ว่ายาที่เธอได้รับนั้นคือยาชนิดเดียวกันกับที่เธอทานตอนอยู่นอกเรือนจำหรือไม่ แต่เธอบอกว่ายาทำให้อาการของเธอแย่ลงกว่าเดิม ทั้งต้องใช้เวลารอพบแพทย์กว่า 3-4 ชั่วโมง “อาย” ถูกเรือนจำห้ามนำยารักษาโรคซึมเศร้าจากข้างนอกเข้ามาทานในเรือนจำในช่วงแรก ทั้งๆ ที่แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์เองให้การอนุมัติแล้ว รวมถึงได้รับยารักษาไม่ครบตามอาการที่เธอเป็นด้วย (11) การเข้าพบจิตแพทย์ในเรือนจำก็เป็นเรื่องยากเช่นเดียวกัน โดยจิตแพทย์มาเรือนจำสัปดาห์ละครั้ง และผู้ต้องขังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นวันใดของสัปดาห์ ทั้งยังต้องผ่านขั้นตอนมากมายกว่าจะเข้าถึงการรักษา 

กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะและควรได้รับการให้ความสำคัญในการดูแลเฉพาะ นอกจากการให้กำลังใจจากทนายและผู้คนจากภายนอกแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควรได้รับการอบรมให้มีความเข้าใจต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น และมีการจัดทำแผนการดูแลรักษาที่มีมาตรฐานและเข้าถึงได้โดยง่าย เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยซึมเศร้าได้อย่างแท้จริงและส่งเสริมคุณภาพในเรือนจำของพวกเขา

 

“กำลังใจ” สิ่งที่ช่วยประคับประคองผู้ต้องขังทางการเมือง

ปัญหาด้านสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองหลายคนกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากการใช้ชีวิตที่ยากลำบากในเรือนจำและการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จนนำไปสู่สภาวะความเครียด ความกดดัน ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องปัญหาสุขภาพจิต จึงไม่สามารถดูแลรักษาผู้ที่ป่วยให้หายขาดจากอาการได้อย่างที่ควรจะเป็น ความเครียด ความรู้สึกหมดหวัง รวมถึงเป็นโรคซึมเศร้านั้น ได้กลายเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญในการใช้ชีวิตในเรือนจำของของนักโทษการเมืองหลายคน 

Freedom Bridge เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นกับนักโทษทางการเมืองโครงการของเราได้ให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนเงินทุนให้กับทั้งนักโทษในเรือนจำ และครอบครัวของพวกเขา นอกจากการให้ความช่วยเหลือทางกายภาพเพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว เรายังมีเป้าหมายในการสนับสนุนสุขภาวะทางจิตของพวกเขาด้วยเช่นเดียวกัน

การได้รับเงินช่วยเหลือที่เพียงพอจะทำให้ผู้ต้องขังทางการเมืองเข้าถึงอาหารการกินที่ดีขึ้น รวมถึงสามารถซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้ ซึ่งอาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะความเครียดของพวกเขา นอกจากนี้การได้รับรู้ว่าครอบครัวของพวกเขาหรือคนที่พวกเขาเคยต้องดูแลเมื่ออยู่ข้างนอก ยังคงได้รับการดูแลช่วยเหลือ ก็ช่วยลดความกังวลใจของพวกเขาได้เช่นกัน ที่สำคัญการให้ความสนับสนุนนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้คนภายนอกเรือนจำยังคงนึกถึงพวกเขาอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกำลังใจชั้นดีที่จะส่งต่อไปให้กับพวกเขาในเรือนจำได้

 



อ้างอิง

 

P1

(1)ความเครียดและการจัดการความเครียดของผู้ต้องขัง ในเรือนจำจังหวัดเชียงใหม่

(2)People in prison have higher rates of mental illness, infectious diseases and poor physical health – new study

P2

(3)‘ธนพร’ ผู้ต้องขัง ม.112: พบหน้าลูกในรอบ 6 เดือน – เริ่มเรียนหนังสือในเรือนจำ 

(4) บันทึกเยี่ยม 3 ผู้ต้องขังคดี 112: “แม็กกี้”เผย แม้ปรับตัวได้ แต่ยังเครียดว่าจะอยู่ในเรือนจำได้ยังไงถึง 25 ปี 

(5) บันทึกเยี่ยม: แพทย์ระบุ “แบงค์” มีอาการซึมเศร้า ขณะอีก 5 ผู้ต้องขังยังสงสัยเหตุไม่ได้ประกันตัว

(6) ความกังวลของ “ฐาปนา”: “ยิ่งข้างในอากาศเย็น ยิ่งทำให้คิดถึงลูก”

P3

(7)แนวทางการดูแลสุขภาพจิตและจิตเวชแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต. พ.ศ. 2551 

P4
(8)
ป่วยไข้ในเรือนจํา: ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการ

(9) เรื่องผู้ป่วยทางจิตเวชในเรือนจำ กับประเด็นที่ท้าทาย 

(10) การต่อสู้ภายในจิตใจของ “แม็กกี้” เมื่อถูกส่งตัวจาก รพ.ราชทัณฑ์ กลับเรือนจำคลองเปรม


P5

(11)”มานี – อาย” ทวงถามมาตรฐานการรับ-จ่ายยารักษาโรคซึมเศร้าจากทัณฑสถานหญิง 

 

Share This Story

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า