หลายคนอาจมองว่า คุกเป็นกรงขัง และผู้ต้องขังก็สมควรแล้วที่ต้องอยู่ในนั้นโดยถูกจำกัดอิสรภาพ และสิทธิต่างๆ เพราะกระทำความผิด แต่ความจริงแล้ว แม้ว่าจะถูกจำกัดอิสรภาพทางกายในเรือนจำ แต่ว่าพวกเขาก็ยังต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และความเป็นมนุษย์อื่นๆ ให้สามารถยังดำรงชีวิตได้ภายในนั้น ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ในฐานะสมาชิกครอบครัว การเรียน ฝึกอาชีพ ไปจนถึงการมีสิทธิโหวตลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งล้วนเป็นกระบวนการให้ผู้ต้องขังยังมีส่วนร่วมกับครอบครัว สังคม และสามารถกลับคืนกลับสู่สังคมได้ และไม่กลายเป็นผู้กระทำผิดซ้ำด้วย
Freedom Bridge พาไปสำรวจกรณีตัวอย่างของเรือนจำในต่างประเทศ ที่พยายามคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ ของผู้ต้องขัง ให้พวกเขาไม่ถูกตัดขาดออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง ด้วยฐานคิดการเคารพสิทธิของผู้ต้องขังในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ต่างจากคนที่อยู่นอกเรือนจำ และการจำคุกมีเป้าหมายเพื่อ “แก้ไข” พฤติกรรมนักโทษให้พร้อมกลับสู่สังคมในฐานะพลเมืองที่ดี
ห้องส่วนตัว ฝึกอาชีพ และกิจกรรมสำหรับนักโทษในคุกนอร์เวย์
นอร์เวย์ คือ ตัวอย่างที่มักถูกพูดถึงในเรื่องการบริหารจัดการเรือนจำที่ดี โดยเรือนจำหลายแห่งในนอร์เวย์มีทั้งห้องส่วนตัว กิจกรรมสันทนาการ พื้นที่เล่นกีฬา คอร์สการเรียน ฝึกอาชีพ และสิทธิต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนมาจากการปฏิรูปนโยบายของกรมราชฑัณฑ์นอร์เวย์ ที่ตั้งใจเลิกวิธีการจำคุกเพื่อแก้แค้น แต่หันมาแก้ไข ปรับพฤติกรรมนักโทษ เพื่อที่ในอนาคตนักโทษจะสามารถคืนกลับสู่สังคม และไม่กลายเป็นผู้กระทำผิดซ้ำอีก
ที่เรือนจำฮัลเด้น หนึ่งในเรือนจำความมั่นคงสูงสุดของนอร์เวย์แต่มักถูกกล่าวขานว่าเป็นเรือนจำที่มีมนุษยธรรมมากที่สุดในโลก นักโทษจะมีห้องส่วนตัวเป็นของตัวเอง มีห้องน้ำ และห้องอาบน้ำในตัว มีตู้เย็นเล็กๆ โต๊ะทำงาน และทีวี ซึ่งในส่วนนี้แตกต่างจากประเทศไทยที่ผู้ต้องขังหลายคนจะต้องอาศัยอยู่ในเรือนนอนเดียวกัน โดย นายชาติชาย สุทธิกลม อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เรามีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และงบประมาณ ในพื้นที่เท่ากันประเทศยุโรปขังห้องละ 1 คน ของไทยขัง 10 คน
ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่เรือนจำฮัลเด้นจะไขกุญแจห้องนอนให้ผู้ต้องขังออกมาเวลา 7.30 น. และให้กลับเข้าไปอีกครั้งเวลา 20.30 น. ระหว่างวันจะสนับสนุนให้ผู้ต้องขังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าการทำงานหรือการเรียน และมีการจ่ายเงินรายวัน 53 โครน หรือราว 164 บาท เป็นเงินจูงใจให้กับคนที่ออกมาจากห้องขัง โดยในเรือนจำนี้ยังมีกิจกรรมอย่างการออกกำลังกาย เช่น การฝึกโยคะ มีสนามฟุตบอล หรือบาสเกตบอล รวมไปถึงที่ปีนผาจำลองด้วย ทั้งยังมีห้องสมุด และสตูดิโออัดเสียงที่ผู้ต้องขังสามารถอัดเพลงและจัดรายการที่ออกอากาศรายเดือนผ่านสถานีวิทยุในท้องถิ่น ผู้ต้องขังที่นี่ยังสามารถเข้าถึงระบบการศึกษา เรียนหนังสือได้ปกติเหมือนคนทั่วไปด้วย
“หากคุณมีกิจกรรมให้ทำน้อย ผู้ต้องขังก็อาจจะยิ่งก้าวร้าว หากให้พวกเขานั่งอยู่ทั้งวันโดยไม่มีอะไรให้ทำ ผมไม่คิดว่านั่นจะเป็นเรื่องดีสำหรับใครทั้งนั้น หากพวกเขายุ่งกับการกิจกรรม พวกเขาจะมีความสุขมากขึ้น เราพยายามไม่ทำให้พวกเขารู้สึกถูกกักขัง” อาเร โฮอิดัล (Are Høidal) อดีตผู้บัญชาการเรือนจำฮัลเด้นเผยในการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนเมื่อปี 2555
เรือนจำฮัลเด้นยังให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้ต้องขังและผู้คุมในเรือนจำที่เรียกตัวเองว่า “เจ้าหน้าที่เรือนจำ” ไม่ใช่ “การ์ด” หรือผู้คุม เช่น การฝึกโยคะด้วยกัน หรือการฟอร์มวงดนตรีที่มีสมาชิกทั้งผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยมีการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย และให้คำปรึกษาผู้ต้องขัง ทำงานร่วมกันในการช่วยให้พวกเขาไม่กลับไปทำอาชญากรรมที่เคยก่อซ้ำอีก ตลอดจนให้ความสำคัญกับการทำให้แน่ใจว่า ผู้ต้องขังยังคงมีครอบครัวให้กลับไปหา และมีงานให้กลับไปทำได้หลังพ้นโทษไปแล้ว
นอกจากเรือนจำฮัลเด้นแล้ว เรือนจำบาสตอยในนอร์เวย์ก็เป็นเรือนจำที่สนับสนุนเรื่องระบบการศึกษา และการฝึกอาชีพเช่นกัน ที่นี่ถูกเรียกว่าเป็นเหมือนศูนย์ฝึกอาชีพมากกว่าคุกด้วย และยังมีกิจกรรมให้นักโทษได้ทำต่อเนื่องในนี้ อย่างเช่นการทำสวน, ปลูกผัก, เลี้ยงม้า หรือตกปลา ซึ่งนักโทษจะสามารถรับเบี้ยเลี้ยงได้ด้วย และด้วย
ทั้งนี้ ในนอร์เวย์ไม่มีโทษประหารรวมถึงไม่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยโทษจำคุกสูงสุดอยู่ที่ 21 ปีสำหรับอาชญากรรมทั่วไป แม้กฎหมายก็อนุญาตให้มีการควบคุมตัวเพื่อป้องกันการก่อเหตุ ซึ่งสามารถขยายโทษจำคุกไปอีกทีละ 5 ปี หากผู้ต้องขังคนนั้นยังถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสังคม
“ทุกคนที่ถูกคุมขังในเรือนจำนอร์เวย์จะถูกปล่อยตัวออกไป อาจยกเว้นไบรวิค (ผู้ก่อนเหตุสังหารหมู่ 22 กรกฎาคม 2554 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 77 คน) แต่คนอื่นๆ ทุกคนต้องกลับไปสู่สังคม เราดูว่าเพื่อนบ้านแบบไหนที่คุณต้องการเมื่อพวกเขาออกไป หากคุณต้องอยู่แต่ในห้องขังเป็นปีๆ คงไม่มีทางเป็นคนที่ดีได้เมื่อออกไป หากเราปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเข้มงวด เราไม่คิดว่านั่นจะทำให้พวกเขาเป็นคนที่ดีขึ้น ในระบบเรือนจำนอร์เวย์เราไม่คิดถึงเรื่องการแก้แค้น เราให้ความสำคัญมากกว่ากับเรื่องการฟื้นฟู นานแล้วที่เราเคยมีเรื่องทะเลาะกันระหว่างผู้ต้องขัง เรือนจำที่นี่ทำให้ผู้ต้องขังอ่อนโยนขึ้น” อาเรกล่าวกับเดอะการ์เดี้ยน
นโยบายปฏิรูปเรือนจำของนอร์เวย์ถือว่าประสบความสำเร็จ เมื่อมองจากการที่นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่อัตราการก่ออาชญากรรมต่ำที่สุดในโลก และเพียง 2 ปีหลังการปฏิรูปเรือนจำในช่วงทศวรรษ 1990 ยังสามารถลดอัตราผู้กะทำผิดซ้ำเหลือเพียงร้อยละ 20 ด้วย
สิทธิใช้เวลากับครอบครัวระหว่างต้องโทษจำคุก
เรือนจำในบางประเทศให้ผู้ต้องขังใช้ห้องส่วนตัวกับครอบครัวได้ ไปถึงขั้นมีลูกทั้งที่อยู่ในคุก หลายชาติในยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา อนุญาตคู่สมรสของผู้ต้องขัง มีสิทธิ์ในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังเป็นส่วนตัวในระยะเวลาที่ยาวนานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์กันได้ ซึ่งเรียกว่า สิทธิ์ในการ “เข้าเยี่ยมของคู่สมรส” (Conjugal Visit) โดยหลายเรือนจำก็จะมีการจัดที่ส่วนตัว ให้ผู้ต้องขังสำหรับกิจกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกระท่อมเล็กๆ หรือห้องพักที่ดูเหมือนอพาร์ตเมนต์
ประเทศที่มีสิทธิเหล่านี้ เช่น นอร์เวย์ เดนมาร์ก รัสเซีย อิสราเอล ตุรกี อินเดีย หรือกระทั่งซาอุดิอาระเบียก็มีสิทธิแบบนี้สำหรับผู้ต้องขัง หรืออย่างในนอร์เวย์ก็ยังมีกิจกรรมให้รักษากับการติดต่อกับครอบครัว โดยมีโครงการ “Daddy In Prison” ในทุกๆ สามเดือน ที่ผู้ต้องขังที่ผ่านการทดสอบเกณฑ์ต่างๆ สามารถใช้เวลาหลายคืนกับคู่สมรสและลูกๆ ในกระท่อมส่วนตัวภายใต้การดูแลของเรือนจำ
ส่วนที่ เรือนจำอารันฆูเอซ (Aranjuez) ในกรุงมาดริด ของประเทศสเปน ออกแบบมาให้มี 36 ห้องขัง สำหรับให้ครอบครัวสามารถอยู่ด้วยกันได้ โดยสำหรับนักโทษบางประเภทสามารถเลี้ยงลูกตั้งแต่วัยทารกจนถึงอายุ 3 ปีในเรือนจำ และหลังจากนั้นเด็กๆ จะต้องย้ายออกจากเรือนจำไปอยู่กับญาติหรืออยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานบริการทางสังคม ทั้งนี้ การจัดห้องขังพิเศษสำหรับครอบครัวก็เพื่อต้องการให้เด็กๆ ได้มีความผูกพันกับพ่อแม่ และทำให้ผู้ต้องขังไม่ถูกตัดขาดจากความสัมพันธ์ในฐานะครอบครัวด้วย
สิทธินี้ไม่ได้มีความเป็นสากล และแต่ละประเทศอาจจะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป โดยบางแห่ง จะให้ครอบครัวเข้ามาเยี่ยมได้ในทุกวันอาทิตย์ บางแห่งเข้าได้ในช่วงของโครงการ และเวลาของการเยี่ยมยังมีตั้งแต่ 2 ชั่วโมงถึง 72 ชั่วโมง ความถี่ที่เข้าเยี่ยมได้ก็มีตั้งแต่เดือนละครั้งถึง 2 เดือนครั้ง
สิทธิการเยี่ยมของคู่สมรสอาจทำให้เกิดคำถาม เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะมองว่าคุกไม่ใช่โรงแรม ผู้ต้องขังต้องเข้ามาเพื่อสำนึกผิด ไม่ควรนึกถึงเรื่องความสุขทางเพศ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เห็นด้วยบอกว่า ผู้ต้องขังควรจะมีสิทธิในการร่วมรักกับคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเราไม่สามารถยุติแรงขับทางเพศของผู้ต้องขังในวัยเจริญพันธุ์ได้อยู่แล้ว หรือหากไปห้ามผู้ต้องขังร่วมเพศกับคู่สมรส สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือ ผู้ต้องขังจะร่วมเพศกันเองในเรือนจำซึ่งมักจะแยกขังนักโทษตามเพศกำเนิด และอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศหรือโรคติดต่อทางเพศในเรือนจำขึ้นได้
ดังนั้น ฝ่ายที่เห็นด้วยจึงมองว่าการให้สิทธิในการเยี่ยมของคู่สมรส ให้สามารถใช้เวลาส่วนตัวด้วยกันได้เป็นกิจลักษณะจึงเป็นสิ่งที่สมเหตุผลกว่า และเหนือไปกว่านั้นนักอาชญวิทยาก็จะเชื่อว่า การให้ผู้ต้องขังมีสายสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวที่อยู่นอกคุก จะช่วยให้ผู้ต้องขังตั้งใจกลับตัวเป็นคนดีของสังคม และหลีกเลี่ยงการกระทำผิดให้ต้องกลับมาอยู่ในเรือนจำอีก ซึ่งการทำให้คนทีี่กระทำผิดปรับปรุงตัวได้ คือภารกิจสำคัญของเรือนจำ
สิทธิในการเลือกตั้งในเรือนจำ
สำหรับประเทศไทยมีบุคคล 4 ประเภทที่ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือ “ผู้ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่ในหลายประเทศผู้ต้องขังสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนปาล อัฟกานิสถาน แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาซิโดเนีย มอนเตเนโกร เซอร์เบีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และยูเครน เป็นต้น
สิทธิในการเลือกตั้ง มีเงื่อนไขแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศหากคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด ผู้ต้องขังสามารถลงคะแนนเสียงได้ หรือบางประเทศอยู่ที่ความร้ายแรง และประเภทของความผิด และระยะเวลาของโทษ
คนที่สนับสนุนสิทธิเลือกตั้งในเรือนจำมองว่า การลงคะแนนเสียงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับพลเมือง และเมื่อบุคคลถูกตัดสินความผิด แม้ว่าพวกเขาจะสูญเสียสิทธิเสรีภาพ แต่ยังคงเป็นพลเมือง ดังนั้น หากพ้นโทษแล้ว ก็จะต้องกลับสู่ชุมชนของตน และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอาจส่งกระทบต่อการกลับสู่สังคม และการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย
ทั้งนี้ จากบทความ “หลากเสียงสะท้อนจากผู้ต้องขังทางการเมือง ถึง #เลือกตั้ง66 สิทธิพื้นฐานที่ยังไปไม่ถึงเรือนจำไทย” ของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน นักโทษการเมืองในไทยเองยังมองว่า แม้พวกเขาจะเป็นถูกตัดสินให้รับโทษ แต่ก็ควรจะได้ใช้สิทธิของตัวเอง เพราะการเลือกตั้งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ แม้แต่นักโทษที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วยเสมอ เช่นนโยบายที่เกี่ยวกับคดีต่างๆ เรือนจำ และผู้ต้องขัง
อ้างอิงจาก
How Norway turns criminals into good neighbours
Inside Halden, the most humane prison in the world
The Norwegian prison where inmates are treated like people
รู้มั้ย หลายชาตินักโทษมี ‘ลูก’ ได้ทั้งที่อยู่ในคุก เพราะถือเป็นสิทธิมนุษยชน
Prisoner votes by European country
The right of prisoners to vote: a global overview
Aranjuez: Spain’s `five-star’ prison for families
‘คุกไทย’ แออัด ทุกข์ที่ต้องจำยอมของนักโทษ
หลากเสียงสะท้อนจากผู้ต้องขังทางการเมือง ถึง #เลือกตั้ง66 สิทธิพื้นฐานที่ยังไปไม่ถึงเรือนจำไทย