เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่าคำกล่าว “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” ไม่เป็นความจริง เมื่อบุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” นักกิจกรรมทางการเมือง วัย 28 ปี เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในในเรือนจำ หลังอดอาหารและน้ำประท้วง (Dry hunger strike) เป็นเวลา 110 วัน เพื่อ 2 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ 2.ต้องไม่มีใครต้องติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก ทว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อยังไม่เกิดขึ้นจริง และเส้นทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยก็ได้สูญเสียอีกหนึ่งชีวิตไประหว่างการต่อสู้
แม้สำหรับใครหลายคนบุ้งอาจไม่ใช่นักกิจกรรมที่ “น่ารัก” ในสายตาพวกเขา แต่จุดยืนและการต่อสู้ของเธอซื่อตรงและหนักแน่นเสมอ และเนื่องในโอกาสครบรอบ 3 เดือนการจากไปของบุ้ง เนติพร Freedom Bridge ชวนย้อนดูเรื่องราวชีวิตบนสมรภูมิการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของเธอ ผู้พยายามจุดไฟแห่งความหวังถึงความยุติธรรมในสังคมไทยจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต
เด็กหญิงในบ้านนักกฎหมาย
บุ้ง – เนติพร เสน่ห์สังคม เติบโตขึ้นในครอบครัวนักกฎหมาย พ่อของเธอเป็นผู้พิพากษาและพี่สาวเป็นทนายความ เธอจึงคลุกคลีและคุ้นเคยกับการวิ่งเล่นอยู่ในศาลตั้งแต่จำความได้ อย่างไรก็ตาม บุ้งไม่ได้เลือกเดินบนเส้นทางนักกฎหมายเหมือนพ่อกับพี่สาว แต่เธอตัดสินใจเข้าเรียนต่อด้านการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทำงานเป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษไปด้วย
บุ้งยอมรับว่าเธอเคยเป็น “สลิ่ม” เคยไปร่วมม็อบของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ทว่าเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 เริ่มสะกิดหัวใจของบุ้ง ก่อนจะตาสว่างและรู้สึกผิดกับคนเสื้อแดงมาก เมื่อรับรู้เรื่องกิจกรรม Big Cleaning Day หรือวันที่ชาวกรุงเทพฯ ออกมาทำความสะอาดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
บุ้งเคยให้สัมภาษณ์กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “มารู้เอาตอนหลังว่า Big Cleaning Day มันคือการทำลายหลักฐาน ทำให้หลายคนที่สูญเสียญาติ เสียพี่น้อง เสียคนรักไปไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่ากระสุนถูกยิงมาจากตรงไหน เพราะหลักฐานมันถูกทำลายไปหมดเลย”
แม้ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว แต่บุ้งบอกว่าในตอนนั้นเธอก็มองเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงแบบที่รัฐต้องการให้รับรู้ ทำให้นี่เป็นความรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดงที่อยู่ภายในใจเสมอมา ผนวกกับการหาความรู้และแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนรอบข้าง ทำให้มุมมองทางการเมืองของบุ้งค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป และความเชื่อว่า “คนรุ่นใหม่คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคต” ก็ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมทางการเมืองในช่วงหลายปีให้หลัง
นักต่อสู้ในนาม “ทะลุวัง”
ในช่วงการชุมนุมขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อกลางปี 2563 บุ้งเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษา เพราะเธอรู้สึกว่าระบบการศึกษาของไทยล้าหลังและตีกรอบความคิดนักเรียน โดยบุ้งเริ่มเรียกร้องสิทธิการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และช่วงการระบาดของโควิด บุ้งก็หันมาเรียกร้องเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับนักเรียน ก่อนที่เธอจะเข้าร่วมม็อบกับกลุ่มนักเรียนเลวและกลุ่ม “ทะลุวัง”
กลุ่มทะลุวังเริ่มถูกจับตามองมากขึ้น หลังจากทำกิจกรรม “โพลขบวนเสด็จ” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทำให้บุ้งและ “ใบปอ – ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์” กลายเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112
ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112
ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าบุ้งถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองถึง 7 คดี โดยในจำนวนนี้มี 2 คดีที่เป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการทำโพลขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 และจากการทำโพลอำนาจสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2565
บุ้งถูกคุมขังในเรือนจำครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ซึ่งเธอและใบปอได้ประกาศอดอาหารประท้วงเป็นครั้งแรก เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว การอดอาหารครั้งนี้ดำเนินอยู่ทั้งหมด 64 วัน ก่อนที่ทั้งคู่จะได้รับการประกันตัวหลังทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวกว่า 8 ครั้ง และกว่า 94 วันที่ถูกจองจำในคุก ก็ทำให้ภาพชีวิตในอนาคตของบุ้งเปลี่ยนแปลงไป
“ก่อนหน้านี้บุ้งวางบริบทของตัวเองไว้ว่าจะอยู่ข้างหลัง คอยซัพพอร์ตน้องๆ สัญญากับตัวเองไว้ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่ทิ้งน้องไปไหน แต่ตอนนี้บุ้งเหมือนรู้สึกถูกผลักให้ออกมาอยู่ข้างหน้า ถูกทำให้ติดคุก บุ้งจะไม่เรียกตัวเองว่าแกนนำ แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจะเห็นว่าบุ้งเป็นแกนนำไหม แล้วมันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ระหว่างการเป็นคนที่อยู่ข้างหลังกับการอยู่ข้างหน้า อาจจะต้องวางบทบาทตัวเองใหม่ แต่ยังไงบุ้งก็จะทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ก็คือซัพพอร์ตคนรุ่นใหม่”
การคุมขังครั้งที่ 2 ของบุ้งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2567 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งเพิกถอนประกัน หลังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2566 พร้อมสั่งจำคุก 1 เดือนจากกรณีละเมิดอำนาจศาล จากการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2566
การอดอาหารครั้งสุดท้าย
บุ้งตัดสินใจอดอาหารประท้วงอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2567 พร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ 2.ต้องไม่มีใครต้องติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมืองอีก
เช้ามืดของวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2567 มีการแจ้งข่าวในโลกโซเชียล ระบุว่าบุ้งอาการวิกฤต หัวใจหยุดเต้น ต้องเร่งปั๊มหัวใจ ก่อนที่เธอจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กระทั่งเวลา 11.22 น. บุ้งได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล หลังอดอาหารมานาน 110 วัน ถือเป็นการอดอาหารประท้วงที่ยาวนานที่สุดหลังการชุมนุมใหญ่ พ.ศ.2563