เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าเพื่อนๆที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองแล้วต้องถูกคุมขังภายในเรือนจำ ไม่ว่าจะเพราะถูกพิพากษาความผิดถึงที่สุดหรือยังคงต่อสู้คดีอยู่แต่ศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาดี พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่หลังลูกกรงอย่างไร เราอาจคิดว่าอย่างไรเสียราชทัณฑ์ก็ต้องมีอาหารฟรีๆให้ผู้ต้องขังได้กิน คงไม่ปล่อยให้อดตาย แต่ของฟรีที่ว่านั้น (จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่เคยต้องเข้าคุกเป็นช่วงสั้นๆ เพราะคดีการเมืองเช่นกัน) คือ ข้าวที่เม็ดแข็ง แกงเขียวหวานหรือพะโล้น้ำใส เป็นของที่กินเพียงเพื่อให้ดำรงชีพไปวันต่อวัน
ผู้ต้องขังจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงทางเลือกในการกินแบบอื่นที่ให้ความรู้สึกว่าพวกเขายังคงเป็นมนุษย์คนเดิมคนก่อนที่จะข้ามมาในกำแพงแห่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องอาหารการกินเท่านั้น แต่ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สบู่ ยาสีฟัน เครื่องอุปโภคอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีในฐานะมนุษย์ ก็ต้องแลกมาด้วยทรัพยากรนั่นคือ “เงิน”
“เงิน” เป็นปัจจัยที่สำคัญตลอดมาในการดำรงชีวิตไม่เว้นแม้แต่ในเรือนจำ เพื่อให้คนข้างในใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนข้างนอกแล้ว การมีโอกาสเลือกซื้ออาหารผ่านร้านที่เรียกกันว่า “ร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง” ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถึงแม้เรือนจำจะใช้ชื่อว่า “ร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง” แต่ก็เป็นร้านที่ผู้ต้องขังและญาติต้องใช้เงินในการจับจ่ายซื้อของไม่ต่างจากร้านค้าทั่วไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีระเบียบราชทัณฑ์ ว่าด้วยการรับ- จ่ายเงินฝากของผู้ต้องขังในเรือนจำ พ.ศ. 2563 ได้มีการนำระบบการรับจ่ายเงินแบบอิเล็กโทรนิกส์ (e-payment) มาใช้ในการบริหารจัดการภายในเรือนจำ ผู้ต้องขังสามารถเบิกเงินในรูปแบบของบัตรซื้อของและนำไปซื้อของที่ร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังที่เปิดตั้งแต่ 09.00 – 15.00 น. ส่วนญาติที่มาเยี่ยมก็สามารถสั่งซื้ออาหารฝากได้ตามเวลาดังกล่าวเช่นกัน การขายสินค้าจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการซื้อของที่บางเรือนจำกำหนดให้ทำลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ แต่บางเรือนจำให้ซื้อของผ่านไลน์ร้านค้าของเรือนจำ ที่สำคัญไม่ใช่ทุกเรือนจำจะเปิดกว้างให้ใครก็ได้เป็นผู้ซื้อของให้ผู้ต้องขัง ส่วนใหญ่แล้วมักจะอนุญาตเพียงญาติหรือผู้ที่มีรายชื่อเข้าเยี่ยม 10 รายชื่อเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าหากผู้ต้องขังคนใดไม่มีญาติ ก็มักจะต้องใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างขัดสน แม้จะมีการเปิดช่องให้ผู้ต้องขังสามารถหารายได้จากการทำงานกับเรือนจำ แต่การจะได้มาซึ่งเงินในจำนวนที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพต่อเดือนไม่ใช่เรื่องง่าย
เป็นผู้ต้องขังไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน
ผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในปัจจุบัน หากไม่ถูกตัดสินจำคุกไปเสียก่อนหรือได้ประกันตัวระหว่างกำลังต่อสู้คดี พวกเขาล้วนเป็นผู้มีความสามารถประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อหาเงินมาซื้อของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตของพวกเขาและยังสามารถเป็นเสาหลักที่คอยเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆได้ ทว่าภายในเรือนจำ พวกเขากลับถูกลดสถานะลงเป็นเพียงแรงงานไร้ค่าตอบแทน เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 50 กำหนดว่าผู้ต้องขังที่ทำงานต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากเรือนจำนั้นไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากการงานที่ได้ทำลงไปแต่อย่างใด
นั่นหมายความว่าเงินฝากจากญาติผู้ต้องขังคือแหล่งที่มาหลักของรายได้เพื่อจับจ่ายในเรือนจำ โดยตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ผู้ต้องขังแต่ละคน มีเงินฝากในบัญชีได้ไม่เกินคนละ 15,000 บาท และถอนออกมาใช้จ่ายประจำวันได้วันละไม่เกิน 500 บาท ดังนั้นหากผู้ต้องขังคนใดไม่ได้มีญาติมิตรให้พึ่งพิงหรือครอบครัวไม่ได้มีฐานะดีเพียงพอจะช่วยเหลือจุนเจือได้อย่างเต็มที่ เขาคนนั้นก็จำต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร
และถึงแม้ว่าในมาตรา 50 จะกำหนดให้ผู้ต้องขังสามารถได้รับ “เงินรางวัล” ตอบแทนจากการทำงานได้ในกรณีที่การงานที่ทำลงไปนั้นก่อให้เกิดรายได้ซึ่งคำนวณเป็นเงินได้ (โดยให้จ่ายร้อยละ 70 ของกำไรจากงานนั้นๆ แก่ผู้ต้องขัง) แต่การจะได้มาซึ่งเงินรางวัลดังกล่าวก็มีข้อจำกัดหลายประการ คือ
- การจะทำงานต่างๆ ของผู้ต้องขังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับสั่งการมาจากเจ้าพนักงานเรือนจำ ผู้ต้องขังมิได้มีสิทธิตัดสินใจเองว่าจะเลือกทำงานหรือไม่ (พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 48)
- ประเภทของงานที่อาจถูกสั่งให้ทำ ได้แก่ (1) ทำงานสาธารณะ (2) ทำงานรักษาความสะอาดหรืองานสุขาภิบาลของเรือนจำ (3) ทำงานบำรุงรักษาเรือนจำ หรือ (4) ทำงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ซึ่งไม่ใช่งานทุกประเภทที่จะมีรายได้สำหรับนำมาเป็นเงินรางวัล โดยงานประเภทที่ (2) และ (3) ไม่ใช่งานที่จะสร้างรายได้ให้ผู้ต้องขังเลย ส่วนงานประเภทที่ (1) และ (4) ก็อาจมีเพียงบางงานเท่านั้นที่ก่อให้เกิดรายได้ อีกทั้งผู้ต้องขังไม่ได้มีสิทธิตัดสินใจเองว่าจะเลือกทำงานประเภทใด (พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 48)
- การทำงานในประเภทที่ (1) โดยทั่วไปจะเป็นการส่งตัวออกไปทำงานนอกเรือนจำ ซึ่งตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดการส่งตัวออกนอกเรือนจำ และประเภทที่ (4) สงวนไว้เฉพาะกับนักโทษเด็ดขาดเท่านั้น นั่นหมายความว่าผู้ต้องขังที่ยังไม่ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด (ผู้ที่ยังต่อสู้คดีแต่ไม่ได้รับการประกันตัว) ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมากในหมู่ผู้ต้องหาคดีการเมือง จะไม่ได้รับสิทธินี้
มากไปกว่านั้น ในระเบียบกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับการส่งตัวออกไปทำงานนอกเรือนจำยังไม่ถูกบังคับใช้กับนักโทษเด็ดขาดในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ด้วย ดังนั้นแม้จะเป็นผู้ที่ยอมรับสารภาพและถูกพิพากษาความผิดถึงที่สุดแล้วก็จะไม่ได้รับสิทธินี้เช่นกัน
ด้วยเหตุข้างต้น ผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองส่วนใหญ่มักจะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานการดำรงชีพที่ย่ำแย่ ทั้งยังถูกบีบบังคับทางอ้อมให้ต้องกลายเป็นผู้ที่ต้องขอพึ่งพาความช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่อยู่นอกเรือนจำจากที่เคยเป็นผู้ที่มีศักยภาพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนทั้งทางสภาพจิตใจและเศรษฐกิจของผู้ต้องขังและครอบครัว
เปิดมื้ออาหารหลังกำแพง: ต้องจ่ายเท่าไหร่ เพื่อให้ชีวิตเหมือนคนธรรมดา
เพื่อให้เราเห็นภาพที่ตรงกันจึงอยากชวนร่วมเปิดประตูโลกหลังกำแพง ที่มีผู้ต้องขังทางการเมืองส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ โดยสถานที่หนึ่งที่ให้ภาพได้ชัดเจน คือเรือนจำที่มีการควบคุมสูงสุด เช่น เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองจำนวนถึง 9 คน อาทิ วีรภาพ ก้อง อุกฤษฏ์ หรือ สถาพร ที่ถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย. ไปคุมขังไว้ตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ซึ่งพยายามจำแนกประเภทของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ อย่างไรก็ตามเราพบว่าผู้ต้องขังที่ถูกย้ายไปบางส่วน ยังคงประสงค์จะต่อสู้คดี ไม่ได้เป็นนักโทษเด็ดขาดแต่อย่างใด
ข้อมูลจากเว็ปไซต์ของเรือนจำกลางบางขวางเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2568 พบว่ามีรายการอาหาร ประเภทกับข้าว เช่น กุ้งอบวุ้นเส้น 60 บาท กุนเชียงทอด 45 บาท ไก่ต้มน้ำปลาครึ่งตัว 130 บาท เต็มตัว 250 บาท ไก่ทอดเล็ก 70 บาท ใหญ่ 185 บาท ไก่ทอดสมุนไพร 55 บาท นอกจากนี้ยังมีรายการอาหารจานเดียว เช่น กระเพราไข่ดาวเนื้อ/หมู/ทะเล 60 บาท กระเพราสูตรลดเค็ม 55 บาท ข้าวหน้าหมูทงคัตซึแกงกระหรี่ 69 บาท ขาหมูเยอรมันเฟรนไฟร์ทอด 420 บาท เมนูอื่นๆ ไข่เจียว 25 บาท ไข่ดาว 3 ฟอง 25 บาท ไข่ต้ม 3 ฟอง 25 บาท อกไก่ต้ม 45 บาท ข้าวสวย 10 บาท
หากนำเงินจำนวน 3,000 บาท มาเฉลี่ยที่มูลค่า 100 บาทต่อวัน ใน 1 เดือนผู้ต้องขังอาจสามารถซื้ออาหารได้เพียง 1-2 มื้อได้ต่อวัน เช่น ข้าวผัดกระเพรา กุนเชียงทอด ไก่ทอดสมุนไพร แต่หากมีการแบ่งปันระหว่างเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน ผู้ต้องขังคนนั้นก็อาจมีโอกาสเข้าถึงเมนูกับข้าว อย่าง ไก่ต้มน้ำปลา ไก่ทอดเล็ก/ใหญ่ และกุ้งอบวุ้นเส้นพร้อมข้าวสวยได้ไม่ยากนัก
จะเห็นได้ว่า รายการอาหารที่จัดขายในเรือนจำกลางบางขวาง ไม่ได้เป็นรายการอาหารที่มีความพิเศษเกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งพึงจะเข้าถึงได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้ต้องขังหรือไม่ก็ตามบนหลักการในประเทศประชาธิปไตยที่รัฐควรมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากกว่าจำกัด
ร่วมประคับประคองชีวิตผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัวไปด้วยกัน
แม้คดีความทางการเมืองต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่ควรต้องพบเจอ และการ
นิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไขกำลังเป็นข้อเสนอหลักของภาคประชาชนต่อรัฐบาล แต่การเพื่อเดินทางต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขผ่านกระบวนการนิติบัญญัติยังคงอยู่ในการถกเถียง ขณะที่ชีวิตของผู้ถูกคุมขังในคดีการเมือง ซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่ยังคงไม่ได้รับการประกันตัวแม้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย ยังต้องดิ้นรนเพื่อจะใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีในเรือนจำ
Freedom Bridge จึงมีเป้าหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนท่ามกลางกระบวนการต่อสู้เรียกร้องการนิรโทษกรรมประชาชนของภาคประชาชนสังคม ผ่านโครงการสนับสนุนอาหารและของใช้ให้ผู้ต้องขังในเรือนจำที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถซื้อได้ นอกจากนี้สนับสนุนเงินเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องขังคดีการเมือง คนละ 3,000 บาทต่อเดือน แม้ทราบว่าเงินจำนวนดังกล่าวอาจไม่ได้ทดแทนอิสรภาพที่ขาดหายไปของพวกเขา แต่เงินยังคงเป็นทรัพยากรที่ขาดเสียไม่ได้ในการใช้ต่อสู้เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของตนเอง
Freedom Bridge ยินดีรับการสนับสนุนจากประชาชนทุกท่านที่ต้องการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองเพื่อการใช้ชีวิตภายในเรือนจำอย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นกำลังใจสำคัญให้พวกเขาต่อสู้กับความอยุติธรรมต่อไป อีกทั้งยังช่วบแบ่งเบาสิ่งที่ครอบครัวของพวกเขาต้องเผชิญไม่มากก็น้อยได้อีกด้วย โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่
ธนาคารกรุงศรี
ชื่อบัญชี “มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม“
เลขบัญชี 800-971-4462
แหล่งอ้างอิง
https://tlhr2014.com/archives/73838
https://isranews.org/article/isranews-scoop/114919-isranews-299.html
https://app-bkp.com/categorie/?id=2&pcd_id=20